ก.ดิจิทัลฯย้ำ“เน็ตประชารัฐ”เกิดประโยชน์ต่อชุมชน

23 ส.ค. 2560 | 13:50 น.
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา ติดตามผลการดำเนินงานโครงการ “เน็ตประชารัฐ” เผยภาคอีสานติดตั้งได้ตามแผน พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม 4 ด้าน ส่งผลดีต่อโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” ทำการเกษตรวิถีใหม่ อบรมหลักสูตรต่างๆ ผ่านโลกออนไลน์ สร้างช่องทางเข้าถึงสินค้าเกษตร การซื้อ-ขายสินค้า พร้อมยกระดับเป็น Digital Famer

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการลงพื้นที่ เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “เน็ตประชารัฐ” ในพื้นที่หมู่บ้านหนองขี้เหล็ก หมู่ 4 ต.วังหิน อ.โนนแดง จ.นครราชสีมา ว่า ปัจจุบันการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท โครงการ “เน็ตประชารัฐ” ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ไปดำเนินการนั้น มีความคืบหน้าตามตามลำดับ โดยมีการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน 11,933 หมู่บ้าน จากเป้าหมายการติดตั้งให้เสร็จก่อนสิ้นปี 2560 คือ 24,700 หมู่บ้าน

IMG_1323

สำหรับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่มีการกำหนดจุดติดตั้งมากที่สุด คือ 13,435 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย จำนวน 6,567 หมู่บ้าน โดยในจำนวนนี้เป็นการติดตั้งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดบุรีรัมย์ 1,179 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย จำนวน 606 หมู่บ้าน จังหวัดชัยภูมิ 627 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย จำนวน 329 หมู่บ้าน และจังหวัดขอนแก่น 1,158 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 446 หมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งจังหวัดที่มีการกำหนดจุดติดตั้งมากที่สุด คือ นครราชสีมา 1,573 หมู่บ้าน ติดตั้งเสร็จเรียบร้อย จำนวน 734 หมู่บ้าน โดยอำเภอโนนแดง ถือเป็นอำเภอแรกๆ ที่มีการติดตั้งแล้วเสร็จครบ 33 หมู่บ้าน

“ในการดำเนินการติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้สร้างประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท ทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนใน 4 ด้านหลัก คือ ด้าน e-Commerce ที่คนในชุมชนสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชน ด้าน e-Health ระบบการแพทย์ทางไกล โดยใช้อินเทอร์เน็ตในการสื่อสารเพื่อบริการทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กับศูนย์การแพทย์ห่างไกล หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีข้อจำกัดในการรักษาผู้ป่วย ด้าน e-Education ทำให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ของเยาวชนทั่วประเทศ และด้าน e-Government ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงาน โดยมีชุมชนและประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ดร.พิเชฐ กล่าว

 

นอกจากนั้น โครงการ “เน็ตประชารัฐ” ยังได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการต่อยอดโครงการ “คนกล้าคืนถิ่น” ของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนผ่านกิจกรรม Digital Farmer ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดจากโครงการฯ ที่ได้สร้างผู้ประกอบการเกษตรจากคนรุ่นใหม่ให้สามารถกลับไปพึ่งพาตนเองบนพื้นที่ขนาดเล็กได้อย่างมั่นคง อยู่ได้จริง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีคุณสมบัติสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารและประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี สามารถเป็นต้นแบบของ “เกษตรดิจิทัล หรือ Digital Farmer” อย่างเข้มแข็งและขยายผลต่อจนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) นับหมื่นคนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ พร้อม ๆ กับการปรับค่านิยมเยาวชนให้เป็นบวกต่อวิถีเกษตร ซึ่งสามารถขยายผลเพิ่มจำนวน Digital Farmer ให้เป็นล้านคนได้ไม่ยาก โดยที่ผ่านมากิจกรรมดังกล่าว ทำให้เกษตรกรสามารถขายของได้ จากการค้นหาข้อมูลตลาดและใช้เครื่องมือดิจิทัลในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เด็นนักเรียนมีรายได้จากการวาดการ์ตูน และขายผ่านแอปพลิเคชั่น true wallet