‘ดีป้า’ชง 3 มาตรการ ปลุกซอฟต์แวร์ไทย

12 ส.ค. 2560 | 04:00 น.
อุตฯ ซอฟต์แวร์ไทยปี 59 มูลค่าการผลิต 50,129 ล้านบาท หดตัว 4.63% ดีป้า ชง 3 มาตรการ ช่วยผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เชื่อสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้กลับมาคึกคัก

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ปี 2559 พบมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ไทย ไม่รวมซอฟต์แวร์เกมและแอนิเมชัน ปี 2559 มีมูลค่าการผลิต 50,129 ล้านบาท ลดลงจากปี 2558 ราว 4.63% โดยมูลค่าตลาดซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์นำเข้าประเทศไทยลดลงจากปี 2558 ราว 5.42% สวนทางมูลค่าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์เพื่อการพัฒนาในองค์กรที่เพิ่มขึ้น 6.25% ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนถึงอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์วันนี้ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แทนที่จะขายไลเซนส์ซอฟต์แวร์ แต่บริษัทซอฟต์แวร์ต้องนำซอฟต์แวร์มาสร้างเป็นบริการ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามทิศทางการปรับตัวของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล

[caption id="attachment_160421" align="aligncenter" width="394"] ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)[/caption]

ทั้งนี้เศรษฐกิจดิจิตอลจะอยู่ได้เพราะองค์กรธุรกิจนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยซอฟต์แวร์ ธุรกิจแบบเดิมจะไม่โตหากไม่ปรับตัว ดังนั้นบริษัทซอฟต์แวร์จึงต้องตอบโจทย์องค์กรธุรกิจด้วยบริการในรูปแบบการนำซอฟต์แวร์มาสร้างบริการ และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ในการพัฒนารูปแบบในการให้บริการ ดีป้าจึงได้ผลักดัน 3 มาตรการสำคัญได้แก่ 1. มาตรการสร้างตลาด โดยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานและบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา

2. มาตรการสร้างความเชื่อมั่น โดยการส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ ให้ได้รับมาตรฐาน ISO 29110 โดยจะสานความร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ เนคเทค และกระทรวงอุตสาหกรรม โดย MASCI ทั้งนี้เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 3. มาตรการการสร้างขีดความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมดิจิตอล (Digital Innovation) ซึ่ง “คน” เป็นปัจจัยหนึ่ง โดยจะจัดตั้งสถาบันไอโอที โดยในสถาบันจะประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับ IoT co-working space, Cloud innovation center, Maker space ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงมีพื้นที่จับคู่ธุรกิจ โดยสถาบันจะไม่เน้นวิชาการแต่อยู่บนพื้นฐานและสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจจริง เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มต้นที่ จ.ชลบุรี โดยทั้ง 3 มาตรการดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กลับมาคึกคักอีกครั้ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,286 วันที่ 10 -12 สิงหาคม พ.ศ. 2560