ชี้ผู้บริโภคยุคดิจิตอล หมุนตามเทคโนโลยี

03 ก.ค. 2560 | 07:41 น.
กูเกิลเผยผลวิจัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องปรับตัวเพื่อดึงความสนใจจากความต้องการของผู้บริโภค ท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด

[caption id="attachment_170087" align="aligncenter" width="377"] ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย[/caption]

นายไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด บริษัทกูเกิล (ประเทศไทย)ฯ เปิดเผยว่า สมาร์ทโฟนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยปี 2559 มียอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนมากถึง 14.8 ล้านเครื่อง เนื่องมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และแนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้บริการดิจิตอลที่มากขึ้น ทั้งโซเชียลมีเดีย วิดีโอสตรีมมิ่ง การค้นหาข้อมูลต่างๆ ที่นำไปสู่ความต้องการในการใช้ข้อมูลและสมาร์ทดีไวซ์มากขึ้น ซึ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องปรับตัวตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคและภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด

“ความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญนั่นก็คือ 1.การแข่งขันที่สูงมาก ทำให้ผู้บริโภคมีการย้ายค่ายได้ง่ายขึ้นและสามารถย้ายค่ายโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์เดิมได้ อีกทั้งผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้มีความผูกพันกับหมายเลขโทรศัพท์มากเท่าแต่ก่อนเนื่องจากหันไปใช้การรับส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชันแทน พบว่ามีการค้นหาคำว่า “ย้ายค่าย” ในกูเกิลเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า

[caption id="attachment_172420" align="aligncenter" width="329"] ชี้ผู้บริโภคยุคดิจิตอล หมุนตามเทคโนโลยี ชี้ผู้บริโภคยุคดิจิตอล หมุนตามเทคโนโลยี[/caption]

2.ตัวเลือกที่มากขึ้นและรายละเอียดที่ซับซัอนขึ้น แต่เดิมนั้นแพ็กเกจการให้บริการจะประกอบด้วย การโทร และการส่งข้อความสั่น (SMS ) แต่ปัจจุบันมีส่วนที่สำคัญเพิ่มขึ้นมาคือดาต้า ทั้งในเรื่องของความเร็ว ปริมาณ และบริการต่างๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ผู้บริโภคมีการค้นหาข้อมูลมากขึ้น โดยคำว่า “โปรเน็ต” มีการค้นหาเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากปี 2557 รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป มีการค้นหาข้อมูลในปริมาณที่มากขึ้นต่อวัน ทำให้ผู้ประกอบการทำงานได้ยากขึ้น สิ่งที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องทราบว่าลูกค้าต้องการอะไร

โดยกูเกิลเชื่อว่าวิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้แมชชีนเลิร์นนิ่ง ที่เป็นส่วนสำคัญในการคิดและดำเนินการในแต่ละขั้นตอน ซึ่งจะนำมาใช้ในทุกผลิตภัณฑ์ของกูเกิล เพื่อให้การทำงานง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำแคมเปญที่มีคนจำนวนมากให้ความสนใจได้

นายไมเคิล กล่าวต่อไปอีกว่าจากผลงานวิจัยพฤติกรรมในการเลือกใช้ดาต้าแพลนของผู้บริโภคที่ทางกูเกิลทำร่วมกับ TNS โดยสำรวจผู้บริโภค 500 คนที่ซื้อแพ็กเกจมือถือในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา กระบวนการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคคือ 1.ความต้องการซื้อ 2.การหาข้อมูลสินค้าที่ต้องการ 3.การหาข้อมูลที่มีความละเอียดมากขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ และ 4.เมื่อผู้บริโภคมาถึงจุดขาย ซึ่งเกือบ 9 ใน 10 หรือ 89% ของคนไทยที่ซื้อโทรศัพท์มือถือนั้น ได้มีการเลือกแบรนด์ก่อนที่จะไปซื้อสินค้าที่ร้านเรียบร้อยแล้ว

และพบว่า 64% ของคนไทยที่ซื้อโทรศัพท์มือถือนั้นมีการค้นพบแบรนด์ใหม่ๆ ระหว่างที่ค้นหาข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สนใจ ซึ่งเป็นจุดที่นักการตลาดควรให้ความสำคัญ และ 93% ของคนไทยที่ซื้อโทรศัพท์มือถือ นั้นมีการค้นหาข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นหลัก โดยมีเสิร์ชเอนจินทำหน้าที่เชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์หลักของแบรนด์หรือเว็บไซต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และวิดีโอที่มีบทบาทในการตัดสินใจเลือกแบรนด์ของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560