‘ไทยคม’ วอนรัฐสางปมสัมปทาน

02 ก.ค. 2560 | 00:35 น.
ไทยคมกางแผนพัฒนาไทยคม 9 ให้บริการดาวเทียมสื่อสารอย่างต่อเนื่องหลังไทยคม 4 และ 5 จะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2564 ชี้ปัญหาความไม่ชัดเจนของภาครัฐ อาจส่งผลต่อการสูญเสียรายได้จากลูกค้ารายใหญ่ปีละกว่า 300 ล้าน

นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯมีแผนพัฒนาดาวเทียมไทยคม 9 แต่ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลทำให้ ไทยคม ไม่สามารถที่จะพัฒนาดาวเทียมดวงใหม่รวมถึงวางแผนในการหาลูกค้าเพื่อประเมินการทำงานในอนาคตว่าจะมีลูกค้าเพียงพอที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งในการสร้างดาวเทียมนั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

[caption id="attachment_172405" align="aligncenter" width="405"] ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)[/caption]

เหตุผลหลักที่ ไทยคม ยังไม่สามารถสร้างดาวเทียมไทยคมดวงที่ 9 ได้เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงใหม่ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แต่ในขณะนั้นยังคงเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ได้ถอนการจองตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียมดวงที่ 9 (Filing)ไป นับตั้งแต่ต้นปี 2559 แต่ กระทรวงดีอียังไม่ได้ดำเนินการจองตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมให้กับบริษัทในฐานะที่กระทรวงเป็นตัวแทนภาครัฐ ทำให้ลูกค้ารายใหญ่ คือ ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป บริษัทเทเลคอมและอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการดาวเทียมดวงที่ 4 (ไอพีสตาร์) เดิมอยู่ ปีละ 1,000 ล้านเยน (ประมาณ300 ล้านบาท ) ซึ่งดาวเทียมไอพีสตาร์กำลังจะหมดอายุการใช้งานในปี 2564 ได้จองการใช้งานดาวเทียมดวงที่ 9 ไว้ ต้องยกเลิกแผนการใช้งานโดยแจ้งมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการบริหารจัดการดาวเทียม ส่งผลให้ไทยคมได้รับความเสียหาย เพราะลูกค้าดังกล่าวได้มีการจองการใช้งานดาวเทียมดวงที่ 9 ถึง 30 % ของบริการทั้งหมด หรือคิดเป็น จำนวน1.5 กิกะไบต์

“สิ่งที่ ไทยคม กำลังเผชิญ คือ ความไม่แน่นอนของภาครัฐเนื่องจากสัมปทานดาวเทียมไทยคมกำลังจะหมดอายุลงในปี 2564 ดังนั้นอยากจะให้รัฐมีความชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้ ไทยคม ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นดาวเทียมประชารัฐ แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป ถ้าภายในปีนี้ไม่มีความชัดเจน จะทำให้ธุรกิจของไทยคมต้องสูญเสีย ทั้งรายได้ ไม่มีการลงทุนต่อ ไม่มีการจ้างงาน สุดท้ายถึงขั้นต้องปิดบริษัท”

นายไพบูลย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไทยคม ได้รับสัมปทานมาเมื่อปี 2534 เพื่อให้บริการสื่อสารด้านดาวเทียมของประเทศไทย มายาวนานกว่า 25 ปี ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่ให้บริการทีวีดิจิตอลผ่านดาวเทียม โดยไทยคมในฐานะผู้ให้บริการดาวเทียมของประเทศไทย และเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่นำดาวเทียมบรอดแบนด์แซทเทลไลท์หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดาวเทียม ไอพีสตาร์เข้ามาให้บริการและเปิดตลาดที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ปัจจุบันมีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่ 5 ดวง คือ ไทยคม 4 ,5, 6, 7 และ 8 ซึ่งให้บริการในหลายประเทศโดยครอบคลุมพื้นที่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และในวงโคจรที่ได้รับมาไทยคมเองก็พยายามทำให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยการให้บริการในหลายประเทศเท่าที่จะทำได้ รวมถึงการแย่งชิงพื้นที่กับผู้ให้บริการในต่างประเทศ

ประเทศไทยเรียกได้ว่ามีจิตอาสาในการให้บริการ และไทยคมเองพยายามจะใช้ตรงนี้เป็นจุดแข็ง สำหรับการให้บริการทีวีดาวเทียมนั้นเริ่มต้นจากโครงการตามแนวพระราชดำริ การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่ผ่านมาได้มีการนำดาวเทียมไปติดตั้งยังโรงเรียนในชนบทและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อที่จะส่งเสริมโอกาสให้เด็กในชนบทเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องของเครือข่ายโทรคมนาคมภาคพื้นดินเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น สึนามิ ไฟไหม้ ที่ทำให้ขาดการสื่อสารโดยไทยคมได้เข้าไปช่วยเหลือให้โครงข่ายสามารถกลับมาใช้งานได้ ในการติดตั้งจานนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงโดยเฉพาะประเทศที่มีภูมิประเทศกว้างใหญ่ และต้องได้รับไลเซนส์ในการติดตั้ง ซึ่งไทยคมเองจำเป็นที่จะต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายด้วยการทำให้ดาวเทียมได้รับความนิยม ซึ่งปัจจุบันกว่า 70% หรือกว่า 16-17 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยนั้นมีการใช้ทีวีดาวเทียม โดยในการแพร่ภาพนั้นก็มีส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ และดาวเทียมอื่นๆ ที่มีสถานีอยู่ในต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปควบคุมในเรื่องของความปลอดภัยและความมั่นคงของชาติได้สะดวก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560