จัดทัพ กสทช.ใหม่ หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้

29 มิ.ย. 2560 | 11:00 น.
ในที่สุดพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเมื่อ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้วโครงสร้างใน กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ต้องปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน

***ตั้งกรรมการไซเบอรชั่วคราว
หลัง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่บังคับใช้แล้ว แต่ทว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ ดีอี และ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีการเจรจาร่วมกันเนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์อยู่ระหว่างการพิจารณานั้น

[caption id="attachment_169607" align="aligncenter" width="503"] ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม[/caption]

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี เปิดเผยว่า แม้ พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อยู่ระหว่างพิจารณา ทางกระทรวงดีอี และกสทช. ได้เจรจาร่วมกันว่า 1.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเอง หรือ 2.มีคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมาดูแล และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย ซึ่งได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าควรตั้งคณะกรรมการชั่วคราวขึ้นมาดูแล และใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถทำงานไปได้โดยไม่ต้อรอกฎหมาย แต่เมื่อกฎหมายมีความชัดเจนแล้วสามารถนำไปใช้ได้ในทันที

ส่วนคณะทำงานทางด้านความปลอดภัยจากไซเบอร์นั้นนำหน่วยงานบางหน่วยงานมาทำ เช่น เอ็ตด้า (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ซึ่งมีงานไทยเซิร์ต อยู่ภายใต้โครงสร้างสำนักงานความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และบางส่วนมาจากสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)

[caption id="attachment_170348" align="aligncenter" width="380"] จัดทัพ กสทช.ใหม่ หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ จัดทัพ กสทช.ใหม่ หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้[/caption]

***บอร์ดพ้นจนครบวาระ
อย่างไรก็ตาม มาตรา 42 ของ พ.ร.บ.ฯดังกล่าว ได้เขียนชัดเจนว่า ให้กรรมการ กสทช. ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ ยังคงดํารงตําแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ หรือ พ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุอื่น ในกรณีที่มีตําแหน่งว่างลง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้กรรมการ กสทช. ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ เว้นแต่มีกรรมการ กสทช. เหลือไม่ถึงสี่คน ให้กรรมการ กสทช. ที่เหลืออยู่พ้นจากตําแหน่งโดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตําแหน่ง ตามวาระ และให้ดําเนินการแต่งตั้งกรรมการ กสทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และ กํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่ยังมิได้แต่งตั้งกรรมการ กสทช. ดังกล่าว ให้กรรมการ กสทช. ที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่จําเป็นไปพลางก่อน จนกว่ากรรมการ กสทช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัตินี้ เข้ารับหน้าในกรณีที่ผู้ที่พ้นจากตําแหน่งตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งประธานกรรมการ กสทช. ให้กรรมการ กสทช. ที่เหลืออยู่เลือกกรรมการ กสทช. คนหนึ่งทําหน้าที่ประธานกรรมการ กสทช. ต่อไป

*** สรรหาก.ก.อำนาจอยู่ที่วุฒิฯ
ส่วนกระบวนการคัดเลือกกรรมการสรรหา ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ประกาศ การเปิดรับสมัครบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 6 ให้ทราบเป็นการทั่วไปผ่านทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อยสามสิบวันติดต่อกัน

หลังจากนั้นให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร ซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการให้ได้จํานวน 2 เท่าของจํานวนกรรมการที่จะพึงมีในแต่ละด้านภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกจากสํานักงานเลขาธิการวุฒิสภา หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหากําหนด โดยแต่ละด้านให้ผู้ที่ ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลําดับเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

***ปรับโครงสร้าง 4 ส่วน
ขณะที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการ กสทช. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อ พ.ร.บ.กสทช.ฯมีผลประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช.ได้วางแนวทางบริหารจัดการโครงสร้างองค์กรใหม่ ออกเป็น 4 ส่วน คือ 1.คณะกรรมการ กสทช.จำนวน 8 คน ยังคงปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะครบวาระในเดือนตุลาคม 2560 ,2.ยุบคณะกรรมการบอร์ดชุดเล็ก คือ กทค.และกสท. แต่คงไว้ซึ่งบอร์ด กสทช.จำนวน 8 คน ,3.ตั้ง คณะอนุกรรมการ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.

และ 4. มาตรการเยียวยา โดย กสทช.ยังมีสิทธิเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าหรือนํามาใช้ประโยชน์ ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ตามที่กําหนดไว้ในแผนซึ่งจัดทําขึ้นตาม (1) จากผู้ที่ได้รับอนุญาตเพื่อนํามาจัดสรรใหม่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ กสทช. กําหนด โดยเงื่อนไขดังกล่าวต้องกําหนดวิธีการ ทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสําหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่โดยให้คํานึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับ ผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี เป็นต้น

พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว และ เป็นจุดเริ่มต้นบริบทใหม่ของ กสทช.โดยเฉพาะกรรมการ 7 คน ที่จะมาใหม่จะเป็นใครนั้นสิ้นปีนี้ก็คงรู้แล้วว่าใคร? เป็นใคร?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,274
วันที่ 29 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560