‘เทกมี ทัวร์’เร่งสร้างชื่อ ตลาดกลางออนไลน์ทัวร์

30 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
“เทกมีทัวร์” ตั้งเป้าปี 60 สร้างชื่อ เป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวรูปแบบเพื่อนพาเที่ยวที่เป็นที่รู้จัก เร่งขยายกลุ่มผู้ใช้บริการคนไทย เล็งขายแพ็กเกจเพื่อนพาเที่ยวให้พ่อ-แม่ กลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมผนึกพันธมิตร ขยายตลาดอาเซียน

นายนพพล อนุกุลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ และแอพพลิเคชัน สำหรับการท่องเที่ยว “เทกมี ทัวร์ดอตคอม” (TakeMeTour.com) บริษัทในกลุ่มสตาร์ตอัพ)รุ่นใหม่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายในปี 2560 ตั้งเป้าหมายพัฒนาแพลตฟอร์ม “เทกมีทัวร์ “ ให้กลายเป็นที่รู้จักและทุกคนต้องคิดถึงทันที เมื่อต้องการท่องเที่ยวในรูปแบบเพื่อนพาเที่ยว ที่มีคนท้องถิ่น (Local Expert) เป็นคนพาเที่ยว โดยขณะนี้มีรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ในการกระตุ้นให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ ซื้อแพ็กเกจเพื่อนพาเที่ยวให้พ่อ-แม่ เพื่อขยายสัดส่วนลูกค้ากลุ่มคนไทย ที่ปัจจุบันใช้บริการอยู่ราว 10% นอกจากนี้ในส่วนการเพิ่มรายได้ยังมาจากลุ่มสมาชิกระดับบน หรือ พรีเมียมเมมเบอร์ ที่มีกำลังซื้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาช่องทางดังกล่าวขึ้นมา

ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มีสัดส่วน 90% ก็มีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีแผนร่วมมือกับพันธมิตร ขยายยังการให้บริการไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่าง มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์

สำหรับแพลตฟอร์ม “เทกมี ทัวร์” เป็นการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ที่อาจจะไม่มีเพื่อนอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่อยากจะไป พัฒนามาเป็นแพลตฟอ์มที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยการพาเที่ยวจากคนในท้องถิ่นหรือ Local Expert ลักษณะการนำเที่ยวจะเป็นแบบ One day Trip และ Local Expert อาจจะไม่ต้องเก่งภาษาอังกฤษมาก ขอแค่อธิบายได้ถึงเรื่องราวต่างๆ ของคนไทยได้ และเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบจากต่างชาติที่ทำแพลตฟอร์มนี้ในเมืองไทย ทีมงานจะมีการตรวจสอบนักท่องเที่ยวให้ด้วยว่ามีประวัติอาชญากรรมหรือไม่”

ส่วนรูปแบบรายได้หลักของเทกมี ทัวร์ มาจากค่าบริการบุ๊กกิ้ง ฟี (Booking Fee) ที่เพิ่มขึ้นไปอีกราว 10-30% จากราคาทริปที่คนพาเที่ยวตั้งไว้ โดยขณะนี้มีผู้ใช้บริการบุ๊กกิ้งเฉลี่ย 10 รายต่อวัน

“กลยุทธ์เริ่มต้นของเทกมี ทัวร์ คือ ใครที่อยากเที่ยวประเทศไทย ต้องมาที่เทกมี ทัวร์ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเฟสแรกประสบความสำเร็จไปแล้ว เพราะเทกมีทัวร์ถือเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดไทย วัดได้จากจำนวนโลคัลไกด์ที่มาลงทะเบียนในระบบที่มีอยู่ประมาณ 1 หมื่นคน ส่วนเฟสต่อไป คือ การการขยายสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิก อาทิ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะเป็นรูปเป็นร่างประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า หลังจากนั้น คือการแตกยอดธุรกิจ สร้างโปรดักต์ใหม่ๆ

สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวก็คือเรื่องของดีมานด์และซัพพลายไม่ได้เดินคู่ขนานกัน ซึ่งต้องการแนะนำผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ตอัพ ที่มีแพลตฟอร์มให้บริการต้องคอยปรับปรุงและดูแลดีมานด์ซัพพลายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เดินควบคู่กันและหากต้องการเติบโต ต้องมีทีมที่พร้อมทั้งการตลาด การเงิน และการบริหารจัดการ เพราะธุรกิจต้องมีการเติบโต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559