โซนี่เดินเครื่องเกมสมาร์ทโฟน เน้นรุกตลาดขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น

20 ต.ค. 2559 | 11:00 น.
โซนี่ คอร์ป ตั้งเป้าหมายวางจำหน่ายเกมสำหรับสมาร์ทโฟนอีก 5-6 เกมภายในปีงบประมาณหน้า นับเป็นความพยายามล่าสุดในการดึงผู้เล่นเกมแบบแคชวลมาสู่แพลตฟอร์มเกมระดับไฮเอนด์

โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ หน่วยธุรกิจวีดีโอเกมภายใต้โซนี่ คอร์ป กล่าวว่า มีแผนจะเปิดตัวเกมสำหรับแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนในญี่ปุ่นเพิ่มเติมในปีงบประมาณหน้า ซึ่งจะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2560 ทั้งในระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิล และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิล ผ่านบริษัทในเครือ ฟอร์เวิร์ดเวิร์คส์

โซนี่ อินเตอร์แอคทีฟ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จัดตั้งฟอร์เวิร์ดเวิร์คส์ขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายนปีนี้เพื่อหวังดึงผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนเข้ามาสู่ธุรกิจวีดีโอเกมของโซนี่อีกครั้ง หลังจากความพยายามที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ตลาดโมบายเกมเติบโตขึ้นเป็นตลาดขนาดใหญ่เกินกว่าที่บริษัทวีดีโอเกมจะเพิกเฉยได้ ปัจจุบันผู้เล่นเกมแบบแคชวลนิยมเล่นเกมผ่านสมาร์ทโฟนเป็นหลัก เนื่องจากส่วนใหญ่สามารถดาวน์โหลดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจฮาร์ดแวร์วีดีโอเกม

นินเทนโด เจ้าของเครื่องเล่นเกม วี ยู (Wii U) และคู่แข่งในธุรกิจวีดีโอเกมของโซนี่ ประสบกับปัญหาจากพฤติกรรมดังกล่าวของผู้เล่นเกม จนต้องตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจโมบายเกมหลังจากคัดค้านแนวคิดในการเปิดระบบของตนเองให้กับแพลตฟอร์มอื่นมานาน โดยนินเมนโดประกาศจับมือกับแอปเปิลและมีแผนจะเปิดตัวเกมชื่อดัง มาริโอ สำหรับเล่นผ่านระบบไอโอเอสในเดือนธันวาคม หลังจากนินเทนโดประสบความสำเร็จอย่างมากกับเกม โปเกมอน โก ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทในเครือ คือ โปเกมอน โค ร่วมกับบริษัท ไนแอนติกฯ

ขณะเดียวกัน ยอดขายเครื่องเล่นวีดีโอเกมรุ่นล่าสุดของโซนี่ คือเพลย์สเตชัน 4 นับว่าทำผลงานได้ดีทั่วโลก ด้วยยอดขายกว่า 40 ล้านเครื่องนับตั้งแต่เริ่มออกวางตลาดในปี 2556 อย่างไรก็ดี เพลย์สเตชัน 4 ไม่ประสบความสำเร็จนักในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งตลาดเกมสมาร์ทโฟนมีขนาดใหญ่กว่าเกมคอนโซล 3 เท่า

โฆษกของโซนี่กล่าวว่า เกมสมาร์ทโฟนจากฟอร์เวิร์ดเวิร์คส์จะเริ่มเปิดให้เล่นได้ในญี่ปุ่นก่อน ตามด้วยประเทศในเอเชียอื่นๆ ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ และยุโรปยังไม่อยู่ในแผนการของโซนี่ในขณะนี้

ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โซนี่เปิดจำหน่ายอุปกรณ์เล่นเกมในระบบความจริงเสมือน (virtual reality) หรือวีอาร์ ภายใต้ชื่อ เพลย์สเตชัน วีอาร์ (PlayStation VR) สำหรับเชื่อมต่อกับเครื่องเล่นเพลย์สเตชัน 4 เป็นครั้งแรก โดยโซนี่ตั้งราคาขายไว้ที่ 399 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,000 บาท)

นอกเหนือจากราคาของอุปกรณ์ที่ถูกกว่าอุปกรณ์ของคู่แข่ง อาทิ โอคูลัส ริฟต์ (Oculus Rift) จากเฟซบุ๊ก และไวฟ์ (Vive) ของเอชทีซี นักวิเคราะห์กล่าวว่า โซนี่ยังมีความได้เปรียบในแง่ของการเข้าถึงฐานผู้เล่นวีดีโอเกมเพลย์สเตชัน 4 กว่า 40 ล้านคน “วีอาร์เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญที่สุดสำหรับกำไรของโซนี่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า” ยู โอกาซากิ นักวิเคราะห์จากโนมูระให้ความเห็น

นักวิเคราะห์ต่างคาดหมายว่าตลาดวีอาร์จะเติบโตอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยบริษัทวิจัย ไอเอชเอส เทคโนโลยี คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้งานอุปกรณ์สวมใส่ศีรษะระบบวีอาร์ 81 ล้านคนในปี 2563 เพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคนเมื่อปี 2558 ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายในตลาดวีอาร์จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

“ยังมีสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไปในแง่ของพรีเมียมคอนเทนต์สำหรับแพลตฟอร์มวีอาร์ และจะต้องใช้เวลาเพื่อให้เทคโนโลยีดังกล่าวเดินหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ” เพียร์ส ฮาร์ดิง-โรลส์ นักวิเคราะห์จากไอเอชเอส ให้ความเห็น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559