โซลาร์ทรี...ต้นนี้ให้ผลเป็นไฟฟ้า

09 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
อินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่และมีประชากรจำนวนมหาศาล การพัฒนาและความเจริญยังกระจายครอบคลุมไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ ชนบทหลายแห่งยังขาดแคลนไฟฟ้าและระบบประปาที่ทันสมัย รัฐบาลอินเดียได้พยายามทุกวิถีทางที่จะนำพาความเจริญเข้าไปสู่หมู่บ้านที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำกระแสไฟฟ้าเข้าไปสู่ครัวเรือน เนื่องจากแสงสว่างนั้นหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น รวมทั้งความปลอดภัยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

[caption id="attachment_104104" align="aligncenter" width="500"] Solar Power Tree Solar Power Tree[/caption]

เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธรณีศาสตร์ ของอินเดียได้ตัดริบบิ้นเปิดตัวโครงการนำไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชนด้วย "โซลาร์ พาวเวอร์ ทรี" (Solar Power Tree) หรือ ต้นไม้พลังงานแสดงอาทิตย์ ซึ่งที่ได้ชื่อเช่นนั้น เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ถูกนำไปติดตั้งบนเสาที่มีกิ่งก้านเหมือนต้นไม้ ตั้งรับแสงแดดเพื่อนำพลังงานมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในชุมชนขนาดเล็ก ทั้งนี้ รูปลักษณ์ที่ตั้งสูงขึ้นไปเหมือนต้นไม้นั้น ทำให้การผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าว ไม่ต้องใช้พื้นที่มากเหมือนกับการตั้งแบบเรียงแผงเป็นหน้ากระดานตามแนวนอน เหมาะกับการติดตั้งในชุมชนหรือหมู่บ้านชนบท ที่เครือข่ายกระแสไฟฟ้าจากส่วนกลางยังเข้าไปไม่ถึง

โครงการดังกล่าวนี้เป็นผลงานการพัฒนาและติดตั้งของสถาบันวิศวกรรมเครื่องกลแห่งรัฐบาลกลางของอินเดีย การติดตั้งต้นแรกพบว่า มันใช้พื้นที่เพียง 4 ตารางฟุตต่อ 1 ต้น กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ ขณะที่แผงโซลาร์เซลล์แบบติดตั้งแนวราบที่ให้กำลังผลิตเท่ากันนั้นต้องใช้พื้นที่ถึง 400 ตารางฟุต นับว่าประหยัดพื้นที่ไปได้มาก รายงานข่าวระบุว่า ต้นไม้พลังแสงอาทิตย์นี้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงพอป้อนการใช้งานของ 5 ครัวเรือน ระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองของมัน (เมื่อชาร์จไฟเต็ม) ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่มีไฟฟ้าใช้ได้ต่อไปอีกถึง 2 ชั่วโมงหลังพระอาทิตย์ตกดิน

[caption id="attachment_104105" align="aligncenter" width="500"] Solar Power Tree Solar Power Tree[/caption]

ทางทีมงานพัฒนาระบบยังได้เสริมระบบทำความสะอาดอัตโนมัติให้กับโซลาร์ พาวเวอร์ ทรี อีกด้วย โดยติดหัวฉีดตั้งเวลาฉีดน้ำชะล้างฝุ่นละอองที่เกาะบนแผงโซลาร์เซลล์ด้วยตัวของมันเองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟ ตอนนี้โครงการนำล่องเริ่มขึ้นแล้วที่ 3 หมู่บ้านในรัฐเบงกอลตะวันตก ขั้นต่อไปของโครงการคือการพัฒนารุ่นใหม่ที่เสาสามารถหมุนรอบตัวเองเพื่อให้มันหมุนรับแสงแดดได้ในปริมาณมากที่สุดตลอดทั้งวัน ราคาต้นทุนของโซลาร์ พาวเวอร์ ทรี 1 ต้นอยู่ที่ประมาณ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ (รุ่นกำลังผลิต 5 กิโลวัตต์) หรือราวๆ 2.6 แสนบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,198 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2559