เน็ตหมู่บ้านเกิดแน่หลังกสทช.เปิดทาง หนุน ‘กระทรวงดีอี’ นำร่องโครงการ

04 ต.ค. 2559 | 04:00 น.
กระทรวงดีอี เดินหน้าเน็ตหมู่บ้าน เตรียมถก "กสทช." กรณีติดตั้งพื้นที่ทับซ้อน หลังสตง.ท้วงติง เผยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาทติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 60 ด้าน "กสทช." ไม่กั๊กไฟเขียวให้นำร่องล่วงหน้า ชี้เหตุคสช.สั่งชะลอโครงการหลังเข้ากุมอำนาจ พร้อมใจปล้ำให้ใช้เงินจากกองทุน กทปส.ที่ได้จากการจัดเก็บค่าใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 3.4 หมื่นล้านบาท

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระทรวงดีอี ยังคงเดินหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ หรือ อินเตอร์เน็ตหมู่บ้านในวงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลมีนโยบายดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2560

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี จะต้องเจรจาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เนื่องจากมีข้อท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งต้องตอบข้อท้วงติงทั้งหมดให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ติดตั้งทับซ้อน โครงการนี้จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส

"ท่านประจิน (พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง) รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีฯ บอกว่าในปี 2560 ทุกหมู่บ้านจะต้องมีอินเตอร์เน็ต แต่เมื่อสตง.ท้วงติงมาต้องตอบคำถามในเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจน" นางทรงพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ สตง.ให้ไปทบทวนโครงการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตนั้น เนื่องจากเห็นว่าไปทับซ้อนแผนงานที่จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้ทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมได้ตามแผนงานปี 2555-2559 หรือแผน USO ของ กสทช. ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ จะหารือร่วมกัน เพราะ กสทช.มีแผนจะติดตั้งจำนวน 2 หมื่นจุด โดยใช้เงินลงทุนจาก กทปส. (กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ)

สำหรับโครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านเป็นงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้กับกระทรวงดีอีฯ จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ กสทช.ใช้เงินกองทุน กทปส.ที่ได้มาจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคม

"กระทรวงดีอี คิดว่าจะดำเนินการให้ได้ในปีนี้เพราะเมื่อโครงการเดินหน้าก็จะเกิดการจ้างงาน แต่เมื่อเกิดการทวงติงก็ต้องกลับมาตอบคำถาม ทำโครงการให้ชัดเจนและโปร่งใส เนื่องจากจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด โครงการของกระทรวงเป็นโครงการที่เปิดให้เอกชนเข้ามาเชื่อมต่อปลายสายกับสายหลักได้ แต่โครงการ USO ของ กสทช. คือ ใครได้โครงการไปคนนั้นก็ต้องติดตั้งเครือข่ายปลายสายด้วย" นางทรงพร กล่าว

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากกระทรวงดีอี สามารถทำโครงการอินเตอร์เน็ตนำร่องไปก่อน กสทช.ก็ยินดี เพราะจะได้ไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน และ ประหยัดการลงทุนอีกด้วย ทั้งนี้กระทรวงฯสามารถใช้เงินกองทุน กทปส. ที่ได้จัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจำนวน 3.75% จัดมาแล้ว 4 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กสทช.ยังไม่ได้นำเงินดังกล่าวไปใช้ติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน เพราะก่อนหน้านี้ กสทช. มีแผนติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวนกว่า 2 หมื่นหมู่บ้าน ในพื้นที่โซน C คือ พื้นที่ในถิ่นทุรกันดาร แต่ต้องชะลอออกไปเนื่องจากเมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศได้สั่งชะลอโครงการเอาไว้ก่อน

"เราไม่มีปัญหาเลยเพราะได้คุยกับท่านประธาน (พล.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการ กสทช.) ท่านก็บอกว่ายินดีถ้ากระทรวงดีอีฯจะติดตั้งไปก่อน มาใช้เงินกองทุน กทปส.ก็ได้โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลฯ" นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านภายใต้งบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และโครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมต่อระหว่างประเทศ งบประมาณ 2,000ล้านบาท ยังคงเดินหน้าต่อ โดยในส่วนของเน็ตหมู่บ้านแม้ว่าโครงการจะล่าช้าไป 3-4 เดือน แต่ก็เพื่อความโปร่งใส ใครท้วงติงอะไรมาก็ต้องรับมาพิจารณา โดยภายใน 2-3 เดือนนี้ขอตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบโครงการนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งแนวทางของทีโออาร์อาจจะยึดแบบเดิม หรือแก้ไขเพิ่มเติมต้องพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าอีก 2-3 เดือน จะสามารถลงนามสัญญาจ้างได้ ยังไงโครงการก็ต้องเสร็จทันภายในปี 2560 เพื่อให้สอดคล้องต่อนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายยกระดับโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศ ด้วยการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ บรอดแบนด์ ให้ครบ 7 หมื่นหมู่บ้าน จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 3.5หมื่นหมู่บ้าน เป็นโครงการใหญ่โครงการแรก ที่มีการบริหารงบประมาณโดยกระทรวงฯจำนวนทั้งสิ้น 1.3 หมื่นล้านบาท และโครงการเคเบิลใยแก้วนำแสงเชื่อมต่อระหว่างประเทศจำนวน 2,000 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559