‘SOL’ เมสเซนเจอร์ออนไลน์สยายปีกสู่เออีซีรับอี-คอมเมิร์ซโต

06 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
เป็นเพราะปรากฏการณ์ของ "แกร็บ" หรือ Grab แอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารแท็กซี่ พลิกวงการธุรกิจด้วยการนำเทคโนโลยีมาหล่อหลอมจนมีคนใช้บริการอย่างมากมายและสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการในประเทศไทยทั้งกลุ่มเจน x และ เจน y ที่เป็นคนรุ่นใหม่ต่างใช้ช่องทางเทคโนโลยีทั้ง เฟซบุ๊ก, ไลน์ ,ไอจี และ แอพพลิเคชัน นำสินค้ามาขายบนโซเชียลเน็ตเวิร์กเหล่านี้ เนื่องจากเป็นอาวุธลับเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

นั่นจึงเป็นที่มาของการเกิดแอพพลิเคชัน "SOL" ให้บริการรับ-ส่งเอกสาร ผ่านช่องทางไลน์,เฟซบุ๊ก, แอพพลิเคชัน และ คอลล์เซ็นเตอร์เป็นต้น

[caption id="attachment_103486" align="aligncenter" width="335"] พีรภูมิ ปราบอริพ่าย  กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท วัน โลจิสติกส์ จำกัด พีรภูมิ ปราบอริพ่าย
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท วัน โลจิสติกส์ จำกัด[/caption]

ล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายพีรภูมิ ปราบอริพ่าย กรรมการผู้จัดการ บริษัท สมาร์ท วัน โลจิสติกส์ จำกัด หรือ SOL ถึงเหตุผลที่เข้ามาทำธุรกิจด้านขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ เพื่อให้บริการรับ-ส่ง เอกสาร และ อื่นๆ ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้

 เหตุผลขยายธุรกิจ

นายพีรภูมิ ขยายความให้ฟังว่าเนื่องจากการซื้อขายสินค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และ แนวโน้มอัตราการเติบโตอยู่ที่ 20% ต่อปี มูลค่าตลาดรวม 1 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจรับ-ส่ง เอกสารมีมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อปี นั้นจึงเป็นที่มาของ "SOL" ให้บริการเมสเซนเจอร์ผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ บริการรับ-ส่งเอกสารและสินค้าพิเศษอื่นๆ เช่น ดอกไม้ ลูกโป่ง เค้ก พวงหรีด ฯลฯ ผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือสมาร์ทโฟน และ เว็บไซต์ รวมถึงการให้บริการผ่านไลน์ และคอลล์เซ็นเตอร์ อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วภาครัฐยังให้การสนับสนุนกับธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพฯ อีกทั้งการซื้อขายสินค้าผ่านอิเล็กทรอนิกส์เป็นแนวโน้มของโลกที่ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สำคัญอยู่ในขณะนี้

 กลุ่มเป้าหมายทางตลาด

สำหรับกลุ่มเป้าหมายนั้นกรรมการผู้จัดการ SOL กล่าวว่าประกอบด้วย เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ขายสินค้าและบริการแบบธุรกิจกับธุรกิจ หรือ B2B และ ธุรกิจกับผู้บริโภค หรือ B2C รวมไปถึงผู้ต้องการใช้บริการทั่วไป บริษัทและห้างร้านเป็นต้น ขณะที่ประเภทของธุรกิจของ SOL คือ Messenger / ส่งเอกสาร ,Food delivery / ส่งอาหาร และ On demand / อื่นๆ ตามความต้องการ

 แจงมีผู้ใช้แล้ว 3 พันงาน

อย่างไรก็ตาม "SOL" ได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ด้วยสโลแกน "เราส่งให้...เหมือนคุณไปเอง" ในเบื้องต้นธุรกิจหลักของเราเปิดให้บริการด้าน เมสเซนเจอร์รายเดือน ,เมสเซนเจอร์รายวัน และ เมสเซนเจอร์รายเที่ยว ซึ่งเป้าหมายของบริษัทต้องการเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์ ที่ให้บริการครบวงจร และ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งความรวดเร็ว ตรงต่อเวลา และ รับประกันความปลอดภัย รับ-ส่ง ทั่วกรุงเทพมหานคร และ ปริมณฑล โดยสัดส่วนการสั่ง-ซื้อสินค้า แบ่งเป็นระบบออนไลน์ 70% และ สั่งซื้อผ่านระบบออฟไลน์จำนวน 30%

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาไม่ถึง 8 เดือน มีจำนวนผู้ใช้บริการมากกว่า 3,000 งาน เพราะรู้จัก SOL แบบปากต่อปี ปัจจุบันมีจำนวนเมสเซนเจอร์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 100 คน มีจำนวนลูกค้ารายสำคัญหรือ Key account มากกว่า 10 ราย และ ยังได้รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ใน 5 ทีมสุดท้ายกับการประกวดแผนธุรกิจ Pitching Challenge ระดับภูมิภาค (ภาคใต้) ในงาน Startup Thailand - Regional ที่จังหวัดภูเก็ต

 ใครคือคู่แข่งทางธุรกิจ

ปัจจุบันคู่แข่งในตลาดมีหลายรายทั้งในและต่างประเทศ แต่จุดเด่นของ SOL นั้นอยู่ที่การบริหารที่หลากหลายที่แตกต่างจากคนอื่น มีระบบติดตามสถานะงาน และ เมสเซนเจอร์ สามารถเรียกใช้บริการได้หลายช่องทางสามารถชำระค่าใช้จ่ายได้หลายวิธี ขณะที่ลูกค้าประกอบด้วย โอ บอง แปง, กลุ่มบริษัทสามารถ, ร้านพวงหรีดออนไลน์ริพ เฮเว่น, น้ำผลไม้บิวที, เว็บไซต์ และแอพพลิเคชันอี-คอมเมิร์ซ แว้บแว้บ และ ร้านดูแลรักษารถ ว๊อช ยูไนเต็ด

 แผนระยะสั้น-ยาว

ต้องการให้มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 5,000 ทรานแซกชัน ภายในสินปีนี้และจำนวนมอเตอร์ไซต์ 100 คัน เราต้องการเป็นผู้นำทางด้านโลจิสติกส์ที่ให้บริการครบวงจร คลอบคลุมการบริการทั้งในประเทศและ ในภูมิภาคอาเซียน ตอบสนองการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีแผนจะเข้าไปทำธุรกิจในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี โดยประเทศแรกที่จะขยายเข้าไป คือ พม่า

ข้อมูลจำเพาะ
นายพีรภูมิ ปราบอริพ่าย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซล จำกัด ประสบการณ์การทำงาน มากกว่า 15 ปี ด้านการขาย การตลาด และการบริหารจัดการในระดับผู้บริหาร ในบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับประเทศอาทิเช่น ยูนิลิเวอร์ เนสท์เล่ และบมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ในกลุ่มธุรกิจ FMCGs (Fast moving consuming goods) กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค และธุรกิจในอุตสาหกรรมด้านดิจิตอล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559