กระทรวงดีอี ผนึก18หน่วยงานรัฐ เชื่อมโยงข้อมูลฐานรับแผนดิจิตอล

29 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
"กระทรวงดีอี" เดินหน้าผนึก 18 หน่วยงานรัฐ หวังดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ พร้อมมีมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลที่มั่นคง ปลอดภัย สอดรับกับนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี เปิดเผยภายหลังการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำร่องการดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจำนวน 18 หน่วยงาน ณ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ว่าตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559ได้เห็นชอบให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ รวมทั้งปรับปรุงระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับการดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงไอซีทีเดิม) เป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้น กระทรวงดีอี จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย คัดเลือกระบบบริการที่มีความพร้อมมานำร่องดำเนินการตามแนวทางบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ แบ่งเป็น 3 กลุ่มงานบริการ ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครองจำนวน 3 บริการ ได้แก่ การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้บริการจัดหางาน โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อใช้บัตรใบเดียวในการให้บริการรับสมัครนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และการจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ส่วนกลุ่มที่ 2 ปรับปรุงระบบงานให้รองรับการใช้งานบัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์ หรือ สมาร์ทการ์ด ใบเดียวจากประชาชนในการติดต่อ 3 บริการ ได้แก่ การรับแจ้งความเอกสารหายผ่านระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การให้บริการข้อมูลสภาวะสุขภาพ 5 รายการ ได้แก่ การแพ้ยา การตรวจพบโรคเบาหวาน การตรวจผลน้ำตาลในเลือด การตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูง ผ่านตู้ Kiosk โดยกระทรวงสาธารณสุข และการให้บริการแก่ประชาชน ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ส่วนกลุ่มที่ 3 การให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ผ่านศูนย์บริการร่วม หรือผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ การให้บริการขอใช้น้ำประปา ใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์ โดยการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการด้วย

นางทรงพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายที่สำคัญประการหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้องค์กรของรัฐ สามารถบริหารจัดการกระบวนงานแบบสมัยใหม่ได้อย่างราบรื่น และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งกระทรวงดีอี ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมที่จะสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ ปรับปรุงบริการของหน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัว ประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) เพื่อเรียกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับบุคคล โดยไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะถูกบันทึกลงแบบฟอร์มแบบอัตโนมัติ ช่วยลดข้อผิดพลาดจากการกรอกข้อมูล และลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงประหยัดเวลาในการให้บริการประชาชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตามการปรับปรุงบริการภาครัฐให้นำไปสู่การให้บริการประชาชนแบบ One Stop Services จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการ มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะมีการส่งข้อมูลอย่างทั่วถึง และสามารถทำธุรกรรมได้ทันที ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA พร้อมที่จะให้การสนับสนุนในด้านเทคนิค ได้แก่ ระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network หรือ GIN) ระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Government Cloud Service) การจัดทำมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูล (Standard) พร้อมทั้งมาตรการ ในการดูแลความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Security) ข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy) ที่สอดคล้องตามกฎหมาย รวมถึงการให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการผลักดันด้านนโยบายที่ได้เห็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจากทุกส่วนราชการ ในการที่จะปรับปรุงการบริการของภาครัฐ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป" นางทรงพร กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559