อินทัชส่งเสริมชุมชน นำวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีบริหารจัดการนํ้า

27 เม.ย. 2564 | 02:30 น.

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างและด้วยความที่เป็นองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช จึงได้นำองค์ความรู้ที่มี ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรนํ้า (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ส่งเสริมให้ชุมชนบ้านวังยาว ต.พลับพลา อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด บริหารจัดการนํ้า บรรเทาปัญหานํ้าท่วมนํ้าแล้ง

“รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ อินทัช กล่าวว่า เป้าหมายของอินทัชคือการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยความสามารถในการเรียนรู้ วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพ และมีรายได้ที่มั่นคง

อินทัช จึงจัดทำโครงการบริหารจัดการนํ้าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2561 แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าชุมชนอินทัชดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ : เรียนรู้ปฏิบัติ บริหารวางแผน และพัฒนา มีการจัดทำข้อมูลด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการจัดการนํ้าในพื้นที่นอกเขตชลประทาน และปรับวิถีการดำเนินชีวิตในชุมชนตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเศรษฐกิจ และสังคม ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

 

อินทัชส่งเสริมชุมชน นำวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีบริหารจัดการนํ้า

อินทัชส่งเสริมชุมชน นำวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีบริหารจัดการนํ้า

สิ่งที่อินทัชเข้าไปดำเนินงาน มีทั้งการจัดอบรม ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้นำชุมชน การศึกษาดูงาน การนำเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ามาปรับใช้ รวมถึงการร่วมสร้างฝายคอนกรีต และอื่นๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการนํ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแผนงานปี 2564-2565 มีแนวทางการขุดลอกแนวกั้นหนองกํ่า อาคารยกระดับนํ้า เชื่อมต่อคลองดักนํ้าหลาก และเก็บสำรองนํ้าในหนองฮี พร้อมวางท่อระบายนํ้าหลากลงแม่นํ้าชีลัด รวมถึงวางระบบสูบนํ้าบนผิวดินเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน

อินทัชส่งเสริมชุมชน นำวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีบริหารจัดการนํ้า

อินทัชยังได้ติดตามผลหลังจากการดำเนินงานบริหารจัดการนํ้าชุมชนปี 2562-2565 พบว่า 4 หมู่บ้าน 1,140 ราย 240 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,300 ไร่ สามารถสำรองนํ้าในระบบได้กว่า 269,000 ลูกบาศก์เมตร ชุมชนมีรายได้เฉลี่ยจากการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 60%

จากแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่อินทัชนำมาใช้วางแผนพัฒนาและบริหารจัดการ โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ปฏิบัติ และกำหนดกฎกติการ่วมกันทำงานด้วยความโปร่งใส มีการติดตาม ประเมินผล ทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างชัดเจน ทำให้สามารถบรรเทาปัญหานํ้าท่วมนํ้าแล้ง และการขาดแคลนนํ้าสำหรับเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,672 หน้า 23 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564