TPBI ต้นแบบธุรกิจผู้ผลิตพลาสติกสู่ความยั่งยืน

01 มี.ค. 2564 | 22:05 น.

“มองขยะพลาสติกให้เป็นวัตถุดิบ นำมาแปรรูป ทำให้มันมีมูลค่าขึ้นมา” นี่คือคำพูดของ ซีอีโอ ‘สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล’ ผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ.ทีพีบีไอ ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกครบวงจรรายใหญ่ของไทย ที่ดำเนินธุรกิจมากกว่า 30 ปี โดยการมองอนาคต และปรับตัวอย่างรวดเร็วด้วยการวิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ จนมีการปรับโมเดลธุรกิจ และทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว

“สมศักดิ์” ได้ใช้เครื่องมือ Materiality Assessment วิเคราะห์หาผลกระทบ อุปสรรค และความเสี่ยง ที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ และพบว่า การต่อต้านการใช้ถุงพลาสติกทั้งจากภาครัฐและผู้บริโภค ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ และต้องเร่งดำเนินการแก้ไข Pain Point ในจุดนี้อย่างรวดเร็ว โดยสิ่งที่ดำเนินการคือ การสร้างโครงการ “วน” เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และสร้างการตระหนักรู้ว่า พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จึงมีการร่วมมือกับพันธมิตร ทำจุด Drop Point รับพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว เพื่อนำกลับมารีไซเคิลใหม่ ซึ่งขณะนี้สามารถเก็บขยะพลาสติกกลับมาได้แล้วกว่า 100 ตัน

“โครงการวนที่ทำมาขาดทุนตลอด แต่เรายินดีที่จะทำ เพราะมันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมคน ถ้าพฤติกรรมคนไม่เปลี่ยนการที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็ไม่เกิด เรื่องของพลาสติก ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์”

นอกจากการให้ความรู้กับผู้บริโภค ในส่วนขององค์กร “สมศักดิ์” ได้ชูเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องธง เขาอธิบายว่า ในส่วนของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ออกแบบต้องทำออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คัดแยกได้ง่าย อย่างผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร มันมีหลายชั้นมาก หลายวัตถุดิบ เวลาเอามารีไซเคิลยาก แต่ในนั้น มีหลายผลิตภัณฑ์ที่โอเว่อร์สเปค เกินความจำเป็น หากทำให้มันเหลือน้อยประเภท การรีไซเคิลจะง่ายขึ้น การเก็บก็จะง่ายขึ้น และการทำเครื่องหมายว่าบรรจุภัณฑ์นี้ทำจากอะไร เป็นแบบไหน ก็จะทำให้แยกได้ง่ายขึ้น รัฐก็ต้องออกแคมเปญ ทำให้คนรับรู้

 สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บมจ.ทีพีบีไอ

ในส่วนของ ทีพีบีไอ ได้นำเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรือธงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เมื่อตลาดไม่ต้องการถุงพลาสติกอย่างบาง ก็ทำเป็นถุงพลาสติกอย่างหนา ที่สามารถนำกลับมาใช้ซํ้า และสามารถรีไซเคิลได้ และยังพัฒนาอีกหลายๆ บรรจุภัณฑ์ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ขณะเดียวกัน ก็ขยายการผลิตไปสู่บรรจุภัณฑ์กระดาษ เพื่อลดผลกระทบยอดขายพลาสติกที่ลดลงในอนาคต เช่น ผลิตถุงกระดาษใช้ในศูนย์การค้า ร้านเบเกอรี่ ซึ่งบรรจุภัณฑ์กระดาษนี้ ช่วยเพิ่มยอดขายให้บริษัทถึง 500 ล้านบาทต่อปี

“เราปรับตัวมา 3 ปี เราลงทุนเพิ่ม มีเครื่องจักรบางส่วนที่ใช้ได้ บางส่วนต้องโมดิฟายด์ และบางส่วนต้องลงทุนเพิ่ม ด้วยงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท แน่นอนในช่วงแรกๆ เราได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ในการลดใช้พลาสติก แต่ตอนนี้เราสามารถรีคัฟเวอร์ได้ตั้งแต่ปีที่แล้ว” ซีอีโอ ทีพีบีไอยอมรับ และเตรียมพร้อมถึงทิศทางธุรกิจในอนาคต

“เราต้องมองให้ออกว่า จุดไหน หรือผลิตภัณฑ์ตัวไหน คนยังต้องใช้ มีความจำเป็นต้องใช้ แล้วสามารถพัฒนาและสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนกันได้ ถ้าเราคิดได้ก่อน ทำได้ก่อน เราก็จะได้ลูกค้ามา...การพัฒนาธุรกิจ หูตาเราต้องกว้างไกล อะไรที่จะเป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคต เพียงแต่ว่า เราต้องมองให้ออก ทำตัวให้ทัน และเร็ว กระแสโลกบอกว่า รีไซเคิล อัพไซคลิ่ง ต้องเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เราก็มองไปที่ตรงนั้น ไม่ใช่ใช้แล้วทิ้งไป นี่คือ ทิศทางของเรา”

 

TPBI ต้นแบบธุรกิจผู้ผลิตพลาสติกสู่ความยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเรียนรู้ และวิเคราะห์ถึงปัญหา พร้อมปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วของ ทีพีบีไอ โดยผู้นำที่ชื่อ “สมศักดิ์ บริสุทธนะกุล” ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อเนื่อง และยั่งยืน

เมื่อถามว่าทำไมต้องพัฒนาธุรกิจเพื่อสู่ยั่งยืน ซีอีโอท่านนี้ ตอบเลยว่า เขาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อธุรกิจและองค์กร ทั้งช่วยลดความเสี่ยง และทำให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้มียอดขายและมีความมั่นคงทางการเงินขึ้น คู่ค้าก็มีความเชื่อมั่น พนักงานก็มีความสุข ที่ได้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร และสุดท้ายคือสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายคือความภาคภูมิใจในการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,656 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564