วัสดุทำถนน ประโยชน์ของหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง

16 ก.พ. 2564 | 19:00 น.

ในยุคที่โควิด-19 แพร่ระบาดอย่างหนักและรัฐบาลของนานาประเทศก็ขอความร่วมมือประชาชนให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในที่สาธารณะและเขตชุมชน หน้ากากอนามัยจึงกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นเสมือนอวัยวะอีกส่วนหนึ่งของร่างกายที่ต้องติดสอยห้อยตามตัวเราไปด้วยทุกหนแห่ง

แต่ในบรรดาหน้ากากอนามัยที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนั้น หน้ากากผ้าอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ไม่อยากสิ้นเปลืองและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำมาใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้หลายครั้ง เพียงแต่นำมาซักทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้ วิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดขยะเหมือนหน้ากากอนามัยแบบที่ทำจากเยื่อกระดาษ ที่มักเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าหน้ากากแบบกระดาษนั้นสวมใส่สบายกว่า เพราะบางเบากว่าทำให้หายใจสะดวก ไม่รู้สึกอึดอัดหรือทำให้เหนื่อยง่ายเหมือนหน้ากากผ้า และด้วยความสวมใส่สบายของหน้ากากกระดาษนั่นเองที่ทำให้ผู้คนนิยมนำมาใช้มากที่สุด แต่ผลพวงที่ตามมาก็คือ ขยะหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่สถิติชี้ว่ามีจำนวนราว 6,800 ล้านชิ้นในแต่ละวัน 

 

วัสดุทำถนน ประโยชน์ของหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง

 

รายงานที่ตีพิมพ์ในนิตยสารเดอะ โททัล เอนไวรอนเมนท์ (The Total Environment) เมื่อเร็วๆนี้ ชี้ว่าหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเมื่อใช้แล้วทิ้งกลายเป็นขยะ ก็จะกลายเป็นความสูญเปล่า แต่หากเก็บรวบรวมมาส่งโรงงานรีไซเคิล ขยะพวกนี้ก็จะถูกชุบชีวิตนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกในรูปแบบใหม่ๆ นั่นก็คือ นำมาทำเป็นวัสดุผสมกับคอนกรีตเพื่อใช้ทำถนนที่แข็งแรง ทนทาน ในต้นทุนที่ถูกลง

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ในเมืองเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งวิจัยและพัฒนาถนนที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล เปิดเผยว่า ถ้ามนุษย์เรารู้จักพลิกแพลงนำสิ่งของที่ใช้แล้ว หรือที่เราเรียกว่า “ขยะ” กลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบใหม่ๆ หรือที่นักอุตสาหกรรมบางคนเรียกว่า “ชุบชีวิตใหม่” ให้กับสิ่งของใช้แล้ว มนุษย์ก็จะได้วัสดุใหม่ๆมาใช้ประโยชน์อย่างไม่รู้จบ   

 

วัสดุทำถนน ประโยชน์ของหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง

 

ในกรณีหน้ากากกระดาษอนามัย(ซึ่งมีเส้นใยพลาสติกผสม) นักวิจัยนำหน้ากากใช้แล้วมาเข้าเครื่องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นก็นำไปผสมกับคอนกรีตรีไซเคิลทำให้เนื้อคอนกรีตมีความข้นเหนียวและยึดเกาะกันมากขึ้น ทำให้แข็งแรงเพิ่มมากขึ้น สามารถนำไปราดเทเป็นชั้นๆ เพื่อทำถนน ทั้งนี้ในการทำถนน 2 เลนความยาว 1 กิโลเมตร ต้องใช้หน้ากากประมาณ 3 ล้านชิ้น หรือเทียบเท่าหน้ากาก นํ้าหนัก 93 ตัน นั่นหมายถึงถ้าเรานำไปทิ้งที่บ่อขยะ มันก็คือขยะ 93 ตัน แต่ถ้านำมาทำถนน มันก็คือวัสดุทำถนนได้ 1 กิโลเมตร ขณะที่ต้นทุนวัสดุทำถนนแบบนี้อยู่ที่ประมาณ 26 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งประหยัดต้นทุนราว 30% หากเทียบกับวัสดุทำถนนคอนกรีตทั่วไป  

ที่มา : นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  หน้า 24 ฉบับที่ 3,652