ทำไมวันที่ 13 มกราคมของทุกปีจึงเป็น “วันการบินแห่งชาติ”

13 ม.ค. 2564 | 09:04 น.

ทุกวันที่ 13 มกราคมของทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็น วันการบินแห่งชาติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงก่อกำเนิดกิจการด้านการบินของไทย

กิจการด้านการบินของไทย ก่อกำเนิดและเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงต้นแห่งรัชสมัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายทหาร 3  นาย เดินทางไปศึกษาวิชาการบินประเทศฝรั่งเศส ได้แก่

1. นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) ผู้บังคับกองพันพิเศษกองพลที่ 5 (ต่อมาเป็น พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ)

2. นายร้อยเอก หลวงอาวุธลิขิกร (หลง สินสุข) ผู้รั้งผู้บังคับกองพันพิเศษกองพลที่ 9 (ต่อมาเป็น พันเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์)

3. นายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต)

หลังจากนายทหารทั้งสามสำเร็จการศึกษา และเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้ว กระทรวงกลาโหมจึงได้จัดตั้งแผนกการบิน เมื่อ พ.ศ.2456 (ต้นกำเนิดของกองทัพอากาศในปัจจุบัน) และสั่งซื้อเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส โดยมอบหมายให้นายทหารทั้งสาม เป็นครูการบิน และช่างเครื่อง ทดลองบินครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2456

ต่อมาใน พ.ศ.2457 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างสนามบินที่ดอนเมือง เพื่อเป็นสนามบินถาวรของไทย จนกระทั่ง พ.ศ.2458 กองบินทหารบก สามารถจัดสร้างเครื่องบินฝีมือคนไทยได้เป็นลำแรก โดยใช้วัสดุที่มีในประเทศ ยกเว้นเครื่องยนต์เท่านั้นที่ยังคงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ทำไมวันที่ 13 มกราคมของทุกปีจึงเป็น “วันการบินแห่งชาติ”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยกิจการการบินมาโดยตลอด ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการด้านการบินถึง 2 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2456  เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเรียนนายหมวดปทุมวัน เพื่อทอดพระเนตรกิจการของแผนกการบิน ในครั้งนั้น นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ พร้อมด้วยทหารอีก 2 นาย ขับเครื่องบินถวายทอดพระเนตร ในการนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยาแก่ นายพันโท หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ  (ทางราชการจึงถือว่าวันที่ 13 มกราคม ของทุกปี เป็นวันการบินแห่งชาติ)

ครั้งที่ 2  เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม2459 เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามบินที่ดอนเมือง เพื่อทอดพระเนตรกิจการของกองบินทหารบก ในครั้งนั้น ได้ทอดพระเนตรเครื่องบิน  และการสวนสนามเครื่องบิน รวมทั้งทอดพระเนตรโรงงาน และโรงเก็บเครื่องบิน

การได้ทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าของกิจการด้านการบิน ยังให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสเนื่องในงานเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2459 ว่า

ทำไมวันที่ 13 มกราคมของทุกปีจึงเป็น “วันการบินแห่งชาติ”

“...อีกทั้งยังมีส่วนอันน้อยแห่งกิจการทหารบก ซึ่งเจริญขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ คือการบินอากาศ ซึ่งเป็นของประหลาดยิ่งกว่าคนโดยมากรู้สึก แต่เมื่อนึกดูว่าที่โรงงานของกรมนักบินทหารบก ได้สามารถสร้างเครื่องบินเองด้วยฝีมือคนไทยแท้ๆ ฉะนี้ ก็ควรนับว่าเป็นข้อยินดีในความเจริญของทหารบกของเราแล้วส่วนหนึ่ง...”

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระราชญาณทัศน์อันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยจึงมีกิจการการบินที่ก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ อำนวยประโยชน์แก่บ้านเมืองมาจนถึงปัจจุบัน และยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายภารกิจไปสู่งานด้านโทรคมนาคม อาทิ การใช้เครื่องบินขนส่งถุงไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ ทำให้ติดต่อสื่อสารทางไปรษณีย์ เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้นอีกด้วย

ที่มา : มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ร.6

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 สายการบินให้เปลี่ยนตั๋ว-เลื่อนบิน ไม่เสียค่าใช้จ่าย

ดันขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3 ไม่ต้องทำEIAใหม่