PwC ชูกลยุทธ์ช่วยเหลือลูกค้า-พนักงานฝ่าวิกฤต

18 ก.ย. 2563 | 07:15 น.

PwC ประเทศไทย ชี้การบริหารงานในปีนี้มีความท้าทายสูง หลังภาวะเศรษฐกิจขาลงเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและลูกค้า เผยกลยุทธ์ปีนี้ เน้นให้คำปรึกษากับลูกค้าในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน เพื่อกลับสู่โหมดฟื้นฟูได้โดยเร็วที่สุด พร้อมลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็น รวมทั้งยกระดับทักษะพนักงาน ตั้งเป้าสู่ที่ปรึกษาเบอร์ 1 ในเรื่องคุณภาพ

นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นเป็นปีที่ท้าทายของการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบ 8.1% และจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2564 ซึ่งหมายความว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อ PwC ประเทศไทย และลูกค้าของ PwC ประเทศไทย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กลยุทธ์ของเราในปีนี้จะเน้นไปที่การให้คำปรึกษากับธุรกิจในการแก้ไขปัญหาทางการเงินต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้ากลับสู่โหมดฟื้นฟูได้โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ เราจะมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายเพราะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ก็จะลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อไป สถานการณ์ล็อกดาวน์ในช่วงที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เราเห็นว่า การลงทุนในเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-3 ปีที่ผ่านมาของ PwC ช่วยให้พนักงานของเราสามารถปรับตัวได้รวดเร็ว โดยทำงานที่ไหนก็ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาคุณภาพของงานได้เป็นอย่างดี

สำหรับ 5 ภารกิจสำคัญที่ PwC ประเทศไทย ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรในปีบัญชี 2564 (1 กรกฎาคม 2563 - 30 มิถุนายน 2564) ประกอบด้วย

 

1. การเข้าหาลูกค้า (Reach out to clients) เพื่อช่วยหาทางแก้ไขปัญหาและรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้กลับสู่ภาวะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วที่สุด สอดคล้องกับเป้าประสงค์ (Purpose) ของ PwC ทั่วโลกในการช่วยเหลือสังคมและแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ให้กับลูกค้า

2. ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Safety and Wellbeing) บุคลากร ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุดของ PwC ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เราได้นำกระบวนการและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อดูแลและปกป้องพนักงานตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับสากล รวมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม

3. คุณภาพ (Quality) ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ยิ่งทำให้ความสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าในเรื่องของคุณภาพ รวมถึงการบริหารจัดการข้อมูลและความโปร่งใสขององค์กร เพิ่มมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่ง PwC ประเทศไทย ยึดมั่นในการให้บริการคุณภาพซึ่งถือเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด เพื่อให้ลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมั่นใจได้ว่า เราจะคงความเป็นที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ (Trusted advisor) อันดับที่ 1 ในเรื่องของคุณภาพ  

4. นวัตกรรม (Innovation) เดินหน้าลงทุนในเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเครือข่าย PwC ทั่วโลกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาลูกค้าในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความพร้อมในการรับมือกับการหยุดชะงักจากวิกฤตในครั้งต่อไป

5. การยกระดับทักษะบุคลากร (Upskilling) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัล เพื่อให้บุคลากรขององค์กรได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และมีความพร้อมสำหรับโลกของการทำงานในอนาคต

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาชิกเครือข่าย PwC ทั่วโลกประกาศรายได้รวมในช่วง 12 เดือน (สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563) อยู่ที่ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.34 ล้านล้านบาท) หรือเติบโต 3% จากปีก่อน ตามอัตราแลกเปลี่ยนท้องถิ่น (หรือเติบโต 1.4% เมื่อคำนวณตามสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2563 (เดือนกรกฎาคม 2562 ถึง มีนาคม 2563) รายได้รวมทั้งเครือข่าย เพิ่มขึ้นเกือบ 7% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกสายงานธุรกิจ (ธุรกิจตรวจสอบบัญชี ภาษีและกฎหมาย และที่ปรึกษาทางธุรกิจ) และในทุกตลาดหลัก อย่างไรก็ดี รายได้ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 2563 กลับได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการระบาด (Lockdown) และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลง 6%

 

“จากนี้ไป PwC ประเทศไทย จะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพราะต้องยอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเราและผู้ประกอบการทั่วทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงลูกค้าของเราด้วย เราเชื่อว่า การเข้าหาลูกค้า รับฟังสิ่งที่เป็นPain point และการให้คำแนะนำที่จะช่วยให้ลูกค้าและผู้ประกอบการสามารถกลับมาฟื้นฟูธุรกิจของตัวเองได้รวดเร็วที่สุดจะเป็นสิ่งที่สำคัญในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริหารสภาพคล่อง การควบคุมต้นทุน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยให้ธุรกิจกลับมาฟื้นสภาพการดำเนินงานให้กลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับภาวะปกติได้ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า” นาย ชาญชัย กล่าว