ธพส. ปั้นศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนตํ่า

07 ส.ค. 2563 | 09:00 น.

ธพส. ปั้นศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนตํ่า

จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. เห็นสำคัญในการช่วยกันแก้ไข จึงยกระดับวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น โดยคำนึงถึงบริบทการเชื่อมโยง ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งการใช้พลังงานอย่างประหยัด และเลือกใช้พลังงานทดแทน ด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop)

“ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท” กรรมการผู้จัดการ  ธพส. อธิบายว่า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ ซึ่ง ธพส.ทำหน้าที่บริหารอยู่ ปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 300 ไร่ ในพื้นที่ทั้งหมดนี้ มีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารราชการต้นแบบด้านการจัดการนํ้าเสีย และการบริหารอาคารตามเกณฑ์อาคารเขียวไทย หรือ TREES พร้อมเตรียมพื้นที่สีเขียวกว่า 190,052 ตารางเมตร สร้างเป็นผืนที่สีเขียว เป็นปอดให้กับคนกรุงเทพฯ และยังเป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่ ให้ทุกคนได้มาเยี่ยมชม

ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท

ธพส.กำลังลงทุนกว่า 720 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารจอดรถแห่งใหม่ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบจากถนนแจ้งวัฒนะ 7 ซึ่งถือเป็นเส้นทางสายหลักภายในศูนย์ราชการ ที่เชื่อมโยงโซนต่างๆ ทั้ง A B และ C เข้าไว้ด้วยกัน โดยแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ 22 ไร่ตรงนี้ คือการสร้างต้นแบบเมืองสีเขียวอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน เป็นเมืองคาร์บอนตํ่าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ส่งเสริมเรื่องการเดิน เสริมด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ โดยจะปลูกต้นราชพฤกษ์ 1,200 ต้นเป็นทางยาว ทำให้สามารถสัญจรไปมา หรือเดินพักผ่อน ออกกำลัง ด้วยความร่มรื่น

ธพส. ปั้นศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนตํ่า

ธพส. ปั้นศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ สู่ต้นแบบเมืองคาร์บอนตํ่า

พื้นที่ส่วนนี้ อนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทำให้นอกจากหน่วยงานราชการกว่า 40 หน่วยงาน ผู้มาติดต่อ และประชาชนทั่วไป ก็สามารถเข้ามาพักผ่อนในพื้นที่แห่งนี้ได้ ซึ่ง ธพส. ยังได้ประสานงานกับเอกชนผู้ให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า เข้ามาวิ่งให้บริการถึงภายในศูนย์ราชการแห่งนี้ด้วย โดยขณะนี้ได้ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2565 และจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ส่วนอื่นๆ ให้มีความสอดคล้องกัน พร้อมทั้งยังได้ประสานงานกับกับทาง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีพื้นที่ติดกัน ในการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรวมด้วย

“กชกร วรอาคม” ภูมิสถาปนิก ที่ปรึกษา ธพส. กล่าวว่า ความตั้งใจและเป้าหมายของการดำเนินงานก่อสร้างและปรับภูมิทัศน์ภายในศูนย์ราชการคือ ปรารถนาให้ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ เป็นปอดอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่จะเป็นจุดเช็คอินใหม่ของคนไทย ซึ่งวิธีคิดและวิธีการทำงานของ ธพส. ถือเป็นแนวคิดการพัฒนาเชิงสังคม (Creating Shared Value) ของ ธพส.ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สร้างคุณค่าทางสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพและธุรกิจไปพร้อมกัน

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563