แอร์เอเชีย ปรับตัวสู่ ทราเวลดิจิทัลแพลทฟอร์ม ประคองตัวสู้คลื่นโควิด

01 ส.ค. 2563 | 08:07 น.

"ธรรศพลฐ์" คาดหลังจบโควิด - 19 จะเหลือสายการบินตัวจริงไม่กี่สาย ส่งผลยิลดีขึ้น ช่วงนี้ขอประคองตัว ชูแนวคิด "lastman standing" ฝ่าวิกฤติ วอนรัฐเร่งอัดเม็ดเงินช่วย

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยในงานสัมมนาของหลักสูตร Digital Transformation For CEO รุ่น 2 หัวข้อ New Normal : Fight To Fly ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFEC ว่าวิกฤติไวรัสโควิด 19 เป็นวิกฤติครั้งที่รุนแรงที่สุด และสร้างผลกระทบระยะยาว ที่ผ่านมา ไทยแอร์เอเชียได้ปรับตัว พยายามสร้างเงินสดเข้าประคององค์กร อาทิ การจัดโปรโมชั่นตั๋วบินบุฟเฟ่ต์ ซึ่งสามารถสร้างกระแสเงินสดได้กว่า 100 ล้านบาท และยังจัดทำดิลิเวอรี่ โดยให้พนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ

แอร์เอเชีย ปรับตัวสู่ ทราเวลดิจิทัลแพลทฟอร์ม ประคองตัวสู้คลื่นโควิด

ภาพรวมธุรกิจการบินสถานการณ์จะกลับมาเมื่อไร ตอนนี้ยังประเมินไม่ได้ แต่คาดว่า มิถุนายน 2564 ไปแล้ว จะเปิดเส้นทางบินได้มากขึ้น นอกจากนี้ สายการบินจะเหลือน้อยลง ทำให้สายการบินที่ดำเนินธุรกิจอยู่มียิลเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาตั๋วของแอร์เอเชียในช่วงกลับมาเปิดบริการหลังโควิด19 จะเพิ่มขึ้นราว 25-30% หลังจากนั้นจะค่อยๆ ปรับกลับมาเท่าเดิม และจะลดลง เมื่อสายการบินสามารถรายได้จากส่วนอื่นได้ดีขึ้น

 

ขณะนี้ สิ่งที่แอร์เอเชียต้องทำ คือ การยืนระยะรักษาตัวเองอยู่ให้ได้ ด้วยแนวคิด “Last Man Standing” ที่เมื่อสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ จะทำให้เแอร์เอเชีย เป็นสายการบินที่แข็งแกร่งในอาเซียน

 

"ก่อนมีโควิด เราเปลี่ยนตัวเองเป็น ดิจิทัลเซอร์วิส แต่ขณะนี้ เราเปลี่ยนตัวเองเป็น ทราเวลดิจิทัลแพลทฟอร์ม และ ดิจิทัลเซอร์วิสแพลทฟอร์ม เราจะให้บริการแบบ door to door และขยายรายได้จากส่วนที่ไม่ใช่ตั๋วให้มากขึ้น จากสัดส่วนปัจจุบัน 18% ที่ขึ้นมาให้ได้ได้ 25%" นายธรรศพลฐ์ กล่าวและว่า การจำหน่ายตั๋ว เราได้กำไรเพียงแค่ 2% แต่รายได้ของที่ไม่ได้มาจากการขายตั๋ว แม้มันจะเล็กแต่กำไร 25-30%

แอร์เอเชีย ปรับตัวสู่ ทราเวลดิจิทัลแพลทฟอร์ม ประคองตัวสู้คลื่นโควิด

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อยากให้รัฐบาลเร่งใส่เงินเข้าระบบอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจทั้งหลายประคองตัวอยู่ให้รอด และสำหรับแอร์เอเชีย ได้ยื่นขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากกระทรวงการคลังไปเมื่อปลายมีนาคม 2563