บาลานซ์  “ความเด็ดขาด-ความเข้าใจ” ผลักดันทีมขับเคลื่อนองค์กร

25 ก.ค. 2563 | 10:20 น.

คนที่ไม่ใช่ก็ต้องปล่อยให้เขาไป เพราะการเก็บเขาไว้ เมื่อถึงเวลาจะเอาคนออกแล้วหน้าคนๆนั้นลอยขึ้นมา ถือว่าโหดมาก

 

ในวิกฤต “ผู้นำ” คือแม่ทัพคนสำคัญ ที่จะสร้างขวัญและกำลังใจ ผลักดันให้ทีมงานมีพลังในการนำพาองค์กรให้เดินหน้าต่อ และในวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ แม้หลายๆ คนจะมองว่า เจ้าไวรัสตัวร้าย ได้เข้ามาทำร้ายทั้งคนและธุรกิจ จนสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกพังย่อยยับ แต่ในมุมมองของ “คุณโอ๋-เพชรลดา พูลวรลักษณ์กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า โควิด-19 ไม่ได้เลวร้ายไปทั้งหมด

“โควิด นี่ก็ดีนะ ทำให้เรา younger กระปรี้กระเปร่ามากขึ้น มีพลังมากขึ้น โควิดเข้ามาเตือนและปรับสมดุลบางอย่าง ถ้าจะมองแค่มันจะแย่ไปนานแค่ไหน มันไม่มีประโยชน์ ต้องถามตัวเองว่า เมื่อวันหนึ่งมันดีขึ้น เราจะไปอย่างไร ไปตอนไหน เราไปเตรียมตัวตรงนั้นดีกว่าไหม เราต้องระวังตัว แต่อย่าเครียด ไม่งั้นชีวิตไม่มีความสุข”

 

เพชรลดา พูลวรลักษณ์ กรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

“คุณโอ๋” ยกตัวอย่างการ Diversify องค์กร ก่อนหน้านี้ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ มีแผนและกำลังศึกษาว่า มีธุรกิจอะไรที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ทำอยู่ แต่พอมีโควิดเข้ามา ทุกอย่างต้องเร็วขึ้น กระชับขึ้น พร้อมทั้งลุกขึ้นทำการระดมสมอง (brainstorming session) ถ้าบริษัทต้อง Diversify จะมีอะไรบ้างที่แตกต่าง ภายใต้ กรอบการใช้ชีวิตของคน

ทีมงานที่ช่วยกันระดมสมอง แบ่งเป็น 3 ทีม เมื่อได้ไอเดียมา ก็จะนำมาสกรีนอีกครั้ง ดูว่าอะไรที่เป็นไปได้ แล้วลงลึกมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ เคย Diversify มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยการขยายธุรกิจจากคอนโดมิเนียม ไปสู่ธุรกิจโรงแรม ออฟฟิศสำนักงาน รีเทล และพร๊อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์

สิ่งที่ผู้บริหารหญิงคนนี้ต้องการคือ การทำให้พนักงานฮึกเหิม และคิดว่ามันมีอนาคต มีความหวัง จึงทำให้เกิดเซ็กชั่นระดมสมอง ที่ไม่ใช่แค่ได้ผลลัพธ์ทางความคิดที่หลากหลาย แต่ยังทำให้ระดับบริหารอย่างเธอ ได้เห็นว่าพนักงานแต่ละคนเป็นอย่างไรใช่คนที่องค์กรต้องการหรือเปล่า หรือเป็นคนที่ต้องอบรมทักษะเพิ่มเติม และทำให้รู้ด้วยว่า คนไหนคือคนที่ใช่สำหรับองค์กร ช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้บริหารระดับสูงคนนี้ ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในองค์กร

“เราพยายามสร้างความเชื่อมั่น และเอ็นเกจเม้นท์ อยากให้ทุกคนรู้สึกว่า เรากำลังอยู่ในสงคราม เราต้องทำอะไรบ้าง การปลุกพลังพนักงานขึ้นมา แค่คำพูดสวยๆ ไม่ได้ เราต้องปฏิบัติด้วย”

 

บาลานซ์  “ความเด็ดขาด-ความเข้าใจ” ผลักดันทีมขับเคลื่อนองค์กร

ทีมงานระดับบริหารต้องปฏิบัติ ต้องมีกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่นำเสนอพรีเซนเทชั่นสวยหรู แต่นำมาใช้จริงไม่ได้ หรือวัดผลออกมาไม่ได้ และต้องส่งต่อความคิดและการปฏิบัตินี้ไปเรื่อยๆ สู่ลูกทีม

“คนมี 2 ประเภท จะเป็น FIGHTER หรือ LOSER ถ้าแบบหลัง ไม่ต้องพูดกัน แต่ถ้าเป็นนักสู้ เมื่อถูกกดดันพลังบวกจะกลับมา การอยู่ในคอมฟอร์ทโซนนานๆ มันทำให้เราแก่...ก็กดดันทีมงานพอสมควร ทำแล้วได้อะไร มีใครดีขึ้นไหม มีคำตอบไหม ถ้าไม่ได้ ก็ลืมไปเลย”

 

บาลานซ์  “ความเด็ดขาด-ความเข้าใจ” ผลักดันทีมขับเคลื่อนองค์กร

“คุณโอ๋” บอกว่า ในมุมของผู้บริหาร ต้องบาลานซ์ทั้งความเด็ดขาด และความเข้าอกเข้าใจพนักงาน ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้บริหารต้องมีจิตวิทยา ต้องมีวิธีการคุยกับแต่ละคนที่แตกต่างกันไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่งั้นเขาจะไม่เก็ตกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป

ส่วนของเอชอาร์ ก็ต้องทำหน้าที่เริ่มคัดคน จะต้องพยายามคัดคนที่ใช่ หรือมีแนวโน้มว่าจะใช่ และสามารถปรับสู่ดีเอ็นเอเดียวกันได้ โดยเฉพาะในแง่ของทัศนคติและการมีจิตใจที่ดี ส่วนความเก่งคือประเด็นลอง เพราะความเชื่อของ “คุณโอ๋” คือความเก่งสามารถสร้างได้

เพราะฉะนั้น ฝ่ายเอชอาร์ของ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จะมีเครื่องมือวัดตลอดเวลาว่า ใช่คนที่ใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ต้องปล่อยให้เขาไป เพราะการเก็บเขาไว้ จนเขาไม่สามารถไปไหนได้ แล้วค่อยเอาเขาออก หรือเมื่อถึงเวลาจะเอาคนออก แล้วหน้าคนนั้นลอยขึ้นมา แบบนั้นถือว่าโหดมาก

เมื่อถามว่า หากโควิด-19 กลับมาอีก จะต้องทำอะไรบ้าง “คุณโอ๋” ตอบทันทีเลยว่า ต้องกลับมาดูเรื่อง digital Tool ต่างๆ ที่ช่วยในการทำงาน และดูว่าที่เคยทำมามีอุปสรรคอะไรไหม ต้องอัพสกิลอะไรให้กับพนักงานเพิ่มเติม การอัพสกิลพนักงาน โดยไม่ได้เทรนแค่ในหน้าที่ แต่เทรนให้พนักงานได้รู้เรื่องอื่นๆ ที่เป็นอนาคตด้วย

ที่สำคัญการเทรนนิ่ง ต้องมีการเทสต์วัดผล ที่ผ่านมา “คุณโอ๋” ยอมรับว่า เคยมีข้อผิดพลาด เพราะจัดให้ในองค์กรมีเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (Knowledge Sharing) แต่ไม่ได้มีการเทสต์ วัดผล จึงไม่รู้ว่า สิ่งที่ทำไปเกิดประโยชน์จริงหรือเปล่า ดังนั้น การระดมสมองในครั้งนี้ รวมไปถึงแผนงานทางด้านอื่นๆ จะต้องมีการตรวจสอบได้ วัดผลได้ และต้องเกิดประโยชน์จริง ไม่เช่นนั้น ไม่ทำ

นี่คือวิธีคิด ที่ “เพชรลดา พูลวรลักษณ์” ยึดเป็นแนวทางตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ และยังคงยึดมั่นมาจนถึงปัจจุบัน

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563