เสื้อตัวนี้ทำจาก “น้ำนม”

25 ก.ค. 2563 | 10:45 น.

 

เราเคยนำเสนอในคอลัมน์ “Circular Economy ชีวิตดีเริ่มที่เรา” มาครั้งหนึ่งแล้วเกี่ยวกับการนำ “น้ำนมโค” ที่เหลือทิ้งหรือนมบูดจากฟาร์มโคนมของเกษตรกรในประเทศเยอรมนี มาใช้ประโยชน์โดยนำมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นั่นคือ “กระดาษชำระ” ที่มีสัมผัสนุ่มนวลมากขึ้น เหมาะกับคนที่มีผิวแพ้ง่าย และที่สำคัญคือไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อนำเยื่อกระดาษมาใช้ในการผลิต

แต่ในฉบับนี้ เรากำลังจะพูดถึงประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของนมบูดซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรปีละไม่ต่ำกว่า 128 ล้านตันทั่วโลก นั่นก็คือ การนำน้ำนมโคมาผลิตเป็นเสื้อยืด

เสื้อตัวนี้ทำจาก “น้ำนม”

บริษัท มี เทอร์โร (Mi Terro) ผู้ผลิตเสื้อยืดจากน้ำนม ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า แรกเริ่มเลยนั้น ทางโรงงานจะสกัดโมเลกุลของโปรตีนนมออกมาจากแบคทีเรียที่อยู่ในนมบูด แล้วทำให้บริสุทธิ์ก่อนที่จะนำไปปั่นดึงเป็นเส้นใยออกมา เพื่อนำเส้นใยไปผลิตเสื้อยืดที่มีคุณสมบัติสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไม่ยับย่นง่าย ต่อต้านแบคทีเรีย และระบายอากาศ-ควบคุมอุณหภูมิได้ดี

เสื้อตัวนี้ทำจาก “น้ำนม”

เสื้อตัวนี้ทำจาก “น้ำนม”

สองผู้บริหารซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง คือ โรเบิร์ต ลูโอ และแดเนียล จวง เปิดเผยว่า กระบวนการผลิตซึ่งใช้นวัตกรรมใหม่นี้ไม่เพียงนำของเสียมาก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ยังใช้น้ำในปริมาณน้อยลงถึง 60% เมื่อเทียบกับการผลิตเสื้อจากผ้าฝ้าย และผลลัพธ์ที่ได้ก็น่าพึงพอใจ เพราะเสื้อยืดที่ผลิตจากน้ำนมให้สัมผัสที่นุ่มนวลกว่าเสื้อผ้าฝ้ายถึง 3 เท่า ไม่ยับย่น ต่อต้านแบคทีเรีย ไม่ทำให้เกิดกลิ่น ที่สำคัญคือ บริษัทระบุว่า กรดอะมิโน 18 ชนิดที่อยู่ในเส้นใยเสื้อยังช่วยบำรุงผิวผู้สวมใส่เหมือนอาบน้ำนมอีกด้วย

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 24 ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563