“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

05 ก.ค. 2563 | 07:02 น.

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ “บ้านโนนตูมถาวร” จ.ศรีษะเกษ เริ่มฟื้นบ่อน้ำเก่าให้มีชีวิต ช่วยรอดภัยแล้ง พร้อมมุ่งสู่การจัดการน้ำครบวงจร ต่อยอดสู่ท่องเที่ยวชุมชน ชวนชมตำนานทุเรียนภูเขาไฟ

บ้านโนนตูมถาวร หมู่ที่ 12 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ถือเป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีเสน่ห์และอัตลักษณ์เฉพาะตัว มีวัฒนธรรมความเชื่อจากเชื้อสาย “ขอม หรือ “เขมร” ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้หรือ อีสานใต้ พื้นที่ติดกับ”เขาพระวิหาร” รอบหมู่บ้านส่วนใหญ่ติดกับเทือกเขาพนมดงรัก หนึ่งในป่าต้นน้ำของแม่น้ำหลายสายหลั่งไหลหล่อเลี้ยงชีวิตใน จ.ศรีสะเกษ

 

ที่สำคัญพื้นที่หมู่บ้านยังเป็นหนึ่งในพื้นที่สีแดง คือมีดินสีแดงที่มีแร่ธาตุสูง เพราะเคยเป็นแหล่งกำเนิดภูเขาไฟ จึงเหมาะแก่การทำการเกษตร จึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ ลำไย มังคุด ลองกอง มะปรางมะม่วง ที่ให้ผลผลิตดีและรสชาติอร่อย โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ที่มีลักษณะแตกต่างจากทุเรียนที่ปลูกที่อื่นคือ กลิ่นไม่แรง เนื้อละเอียด นุ่ม แห้ง จนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI –Geographical Indication)

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

​ร.ต.เหมราช สุดาชาติ อดีตข้าราชการนายทหาร ประจำกระทรวงต่าง ๆ เกือบ 20 ปี ด้วยหัวใจ ”รักษ์บ้านเกิด” จึงบอกกับตัวเองหลังเรียนจบปริญญาโท ในปี 2561 ว่า ถึงเวลาทำตามฝันกลับมาบ้านเกิด เพื่อนำความรู้มาพัฒนาท้องถิ่นโดยยึดอาชีพเกษตร นำผืนดินที่พ่อแบ่งให้จำนวน 6 ไร่ มาปลูกทุเรียน

 

ฝ่าภัยแล้งซ้ำซาก เอาชนะข้อจำกัดด้านพื้นที่ 

จากเด็กที่เกิดและเติบโตมาในหมู่บ้าน “โนนตูมถาวร” และทำหัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน ร.ต.เหมราช จึงเข้าใจต้นตอของปัญหา “ความยากจน” ของพี่น้องภายในหมู่บ้าน ที่นำไปสู่ปัญหาทางสังคม ว่าล้วนมีสาเหตุมาจาก การขาดการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ไม่มีการสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค และทำเกษตร จึงทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาแล้งในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ของทุกปี บางปีเกิดน้ำท่วมในช่วงฝนหลากเป็นประจำ

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

ชาวบ้านที่ทำการเกษตรจึงต้องดิ้นรนสู้ภัยแล้ง หาวิธีเอาตัวรอดเฉพาะตัว สำหรับคนที่มีทุนหนา ก็ใช้รถขนน้ำจากแหล่งน้ำห่างไกล ส่วนคนทุนน้อยก็พลิกไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน โดยเฉพาะในปี 2563 นี้ เป็นปีที่เกิดภัยแล้งหนักหน่วงที่สุดในรอบ 40 ปี และยังเป็นปีที่มีวิกฤตซ้ำซ้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าเดิม นอกจากรายได้ที่ลดลงอย่างมาก เกษตรบางรายต้องยอมรับชะตากรรมปล่อยให้ผลผลิตเสียหาย

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

​ทว่า อดีตนายทหารเชื่อว่า “แล้งนี้จัดการได้” หากสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทาที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านราว ๆ 1,700 เมตรมาเติมลงในบ่อพักน้ำเดิมของหมู่บ้าน จึงลุกขึ้นเป็นแกนนำชักชวนคนในชุมชนแก้ภัยแล้งร่วมกัน แม้จะดูมีความหวังแต่อีกหลายเสียงก็ยังไม่เชื่อว่าการสูบน้ำจะเป็นไปได้จริง เพราะเป็นเส้นทางที่ไกล และที่สำคัญหมู่บ้านอยู่สูงจากอ่างเก็บน้ำ 52 เมตร เทียบได้กับตึก 17 ชั้น ทำให้ ต้องวางท่อและเครื่องปั๊มน้ำผ่านหน้าผาสูงชัน จึงจะสามารถสูบน้ำมายังบ่อพักน้ำในหมู่บ้านได้

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

​“ตอนที่เราไปชักชวนมาทำไม่มีใครเชื่อว่าจะดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทามาใช้ได้ แต่นี่คือความหวังเดียวในการต่อสู้กับภัยแล้งของชาวบ้านที่ทำการเกษตร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีกำลังจะวิ่งรถไปขนน้ำทุกวัน ต้องจ่ายค่าน้ำ 500 – 600 บาท ต่อเดือน ยังไม่รวมกับค่าน้ำมันรถในการขนน้ำ”

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

ค้นพบคำตอบ ปลดล็อคภัยแล้ง

​ ด้วยความที่ ร.ต.เหมราช เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่รักการเรียนรู้ จึงค้นหาวิธีปลดล็อคปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นผ่านเสิร์ซเอ็นจิ้น จนทำให้เห็นภาพของโครงการ “เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง” ปรากฎขึ้นบนสื่อโซเชียลมิเดีย จึงเกิดแรงบันดาลใจและรีบติดต่อไปยังสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. เพื่อขอความรู้และเข้าร่วมโครงการฯ ด้วยต้องการแก้ปัญหาน้ำอย่างครบวงจร

 

​หลังจากติดต่อเล่าถึงปัญหาชุมชน ร.ต.เหมราชก็รีบกลับมาเขียนแผนการดึงน้ำจากอ่างห้วยทามาพักไว้ในบ่อน้ำสาธารณะภายในหมู่บ้าน มีการนำเสนอแผนผ่านทั้งทางโทรศัพท์ และไปนำเสนอด้วยตัวเองที่กรุงเทพฯ รวมถึงวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อีก 2-3 ครั้งในช่วงที่เกิดการประกาศพระราชกำหนดฉุกเฉิน (ล็อกดาวน์) จนกระทั่งแผนงานที่เสนอไปผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการภายในระยะเวลา 2-3 เดือน สสน.จึงส่งคู่มือการติดตั้ง พร้อมกับทุ่นลอยน้ำ แผงโซลาเซลล์ และอุปกรณ์ปั๊มน้ำ เพื่อสูบน้ำจากอ่างห้วยทาไปยังบ่อพักน้ำ โดยชาวบ้านช่วยกันลงแรงในการติดตั้ง

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

​“ตอนแผนผ่านเป็นช่วงล็อกดาวน์ เดือน เม.ย. ซึ่งยังอยู่ในช่วงห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และหากเดินทางต้องกักตัว 14 วัน ทีมงาน สสน. ไม่สามารถเดินทางมาได้ จึงช่วยส่งคู่มือการติดตั้งมาให้ชาวบ้าน ซึ่งจุดที่ยากที่สุดคือการวางท่อผ่านหน้าผาสูงชัน ต้องปีนขึ้น ๆ ลง ๆ หลายรอบ แม้จะมีอุปสรรค แต่ฝีมือและความสามัคคีของชาวบ้านที่ช่วยกันแก้ปัญหาหน้างานทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ จนติดตั้งสำเร็จภายใน 3 วัน แม้จะเสร็จแล้วก็ยังมีปัญหาท่อแตกน้ำไม่ไหล จึงต้องซ่อมแซมหลายรอบกว่าที่ชาวบ้านได้จะได้ใช้น้ำ”

ชาวบ้านช่วยกันระดมติดตั้งพื้นที่ผันน้ำ โดยการศึกษาจากแบบของระบบวิศกรรมที่ สนน. ส่งมาให้ใน 5 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ติดตั้งปั๊มสูบน้ำโซล่าเซลล์และทุ่นลอยน้ำ เพื่อดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยทามาเก็บที่สระเก็บน้ำของวัดในชุมชน จุดที่ 2 ติดตั้งปั๊มสูบน้ำจากสระเก็บน้ำของวัดและวางท่อ เพื่อดึงน้ำไปยังสระเก็บน้ำสาธารณะหมู่บ้าน จุดที่ 3 วางท่อส่งน้ำจากจุดแรงดันน้ำระบบท่อริมอ่างเก็บน้ำห้วยทาไปยังปั๊มสูบน้ำโซลาเซลล์ จุดที่ 4 วางท่อส่งน้ำจากจุดตั้งถังแรงดันน้ำระบบท่อริมอ่างเก็บน้ำห้วยทา จุดที่ 5 วางท่อส่งน้ำจากสระเก็บน้ำวัดไปถึงสระเก็บน้ำสาธารณะ

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

​จากการลุกขึ้นมาขจัดภัยแล้งครั้งนี้ ทำให้ชุมชนกว่า 380 คน ใน 93 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 4,000 ไร่ ได้รับประโยชน์จากการผันน้ำ สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค

 

จากผันน้ำชั่วคราว สู่วิถีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

​ความสำเร็จจากการมีสระเก็บน้ำส่วนกลางประจำหมู่บ้าน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำข้อตกลงในการใช้น้ำร่วมกันที่จะต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำในหมู่บ้าน จะต้องมีการมองหาแหล่งน้ำภายในชุมชน ตั้งแต่ห้วย หนอง คลอง บึง และร่วมกันฟื้นฟูแหล่งน้ำในอดีตที่ถูกทำลายจากการขยายสิ่งปลูกสร้างและถูกทิ้งร้างให้คืนกลับมาเป็นพื้นที่เก็บน้ำในชุมชน โดยการเข้าร่วม โครงการ “เอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชน รอดภัยแล้ง ในครั้งนี้มีระยะเวลา 3 ปี ที่จะช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการน้ำ และมีน้ำใช้อุปโภคบริโภค และเพียงพอสำหรับทำการเกษตรได้อย่างครบวงจรและยั่งยืน

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

​“สสน. มองว่าการดึงน้ำจากเขื่อนห้วยทามาใช้ เป็นแค่การบรรเทาภัยแล้งแบบเร่งด่วน แต่โจทย์ที่แท้จริงจะต้องพัฒนาสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง ไม่ใช่วิธีสูบน้ำหรือผันน้ำจากที่อื่น ชุมชนต้องมีแหล่งน้ำ ซึ่งยอมรับว่าตั้งแต่ผมเกิดมา เห็นแหล่งน้ำในหมู่บ้านครั้งล่าสุดปี 2540 หลังจากนั้นก็ไม่มีแหล่งน้ำหรือพื้นที่เก็บน้ำอีกเลย เพราะพื้นที่เหล่านี้เต็มไปด้วยตะกอนดินและวัชพืช มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำ หรือบางแห่งมีการสร้างฝายกั้นผิดวิธี และการทำทางป้องกันน้ำท่วม (Flood Way) ก็สูงจนเกินไป ส่งผลทำให้คนปลายน้ำไม่ได้ใช้ประโยชน์ ” เขาย้อนทบทวนถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปที่ต้องฟื้นฟู

สำหรับแผนจัดการน้ำอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการบริหารจัดการพื้นที่กักเก็บน้ำในชุมชน ยังจะต้องตอบโจทย์การใช้ 3 ประเภทคือ การมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ทำการเกษตร และการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

“น้ำคือทรัพยากรที่ควรเป็นต้นทุนฟรี ดังนั้นหลังจากพัฒนาน้ำเพื่อการอุปโภค และทำการเกษตรแล้ว จะพัฒนาติดตั้งเครื่องกรองน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคภายในหมู่บ้าน”

 

น้ำ’ คือ เส้นเลือดใหญ่ขับเคลื่อนชีวิตให้ยั่งยืน

เมื่อมีน้ำเสมือนมีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ให้พร้อมขับเคลื่อนพลังชีวิต น้ำจึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้าน คิดต่อยอดวางแผนการเพาะปลูกได้หลากหลาย โดยเฉพาะพืชที่ใช้น้ำมากแต่ให้ผลผลิตดี ราคาสูง เช่น สวนผลไม้ ทุเรียน และเงาะ “ทุเรียนภูเขาไฟ” ของที่นี่จึงเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ ต่อยอดไปสู่โอกาสในการพัฒนาสู่การท่องเที่ยว ดึงให้คนเข้ามาเยี่ยมชม และซื้อผลผลิต รวมไปถึงการคิดทบทวนการพึ่งพาตัวเอง เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ โดยชุมชนมีการคิดพัฒนาโครงการ เช่น การทำแก๊สหุงต้มจากพลังงานชีวภาพแทนการไปซื้อ ซึ่งมีต้นทุนถึง 400 บาทต่อถัง และใช้ได้เพียง 1 เดือน  

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

“มีน้ำ ก็มีป่า ก็ทำการเกษตรได้ ช่วยให้ทุกคนปลูกพืชอะไรก็ได้มาเสริมรายได้หลัก จากเดิมที่หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่ไม่ต้องใช้น้ำมาก  การมีน้ำจึงเปรียบเสมือนมีหลอดเลือดเลี้ยงร่างกาย หล่อเลี้ยงไปทุกส่วนของร่างกาย พอมีน้ำ ชาวบ้านก็อยากปลูกอยากทำ เพิ่มช่องทางหารายได้”

 

“ลุกขึ้น – ร่วมกัน – เรียนรู้ – แบ่งปัน” สูตรสำเร็จสู้ภัยแล้ง

 

ร.ต.เหมราชวิเคราะห์ผลสำเร็จจากการร่วมมือกันของชุมชนเพื่อสู้ภัยแล้งในครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะชุมชนเข้าใจตัวตน ภูมิหลัง รู้จักต้นทุนทรัพยากรที่มี จึงรู้ปัญหาและความต้องการของชุมชนโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ ที่สำคัญชุมชนเป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาสร้างความสามัคคี พึ่งพาตนเอง พร้อมที่จะศึกษาเรียนรู้ และเทคโนโลยีใหม่ ในการแก้ปัญหา

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

“เมื่อรู้ปัญหา จึงรู้ความต้องการของตัวเอง ชุมชนก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเข้าใจ ถูกจุด และมีโอกาสจะสำเร็จเพราะมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นกระบวนการ ครบวงจร ซึ่งความรู้เหล่านี้จะติดตัวชาวบ้าน ถูกส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปและกระจายไปยังชุมชนที่ประสบภัยเช่นเดียวกัน ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าการรอความช่วยเหลือ หากชุมชนไม่ลุกขึ้นมาร่วมมือกัน สามัคคีกัน บริหารจัดการกันเองในชุมชน ก็จะไม่เกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืนในชุมชน”

 

​ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในความรู้จาก ”หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ที่ร.ต.เหมราชได้ศึกษามายาวนาน จึงต้องการสานต่อพระราชปณิธาน อยู่บ้านเกิดทำเกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมกับปลูกสวนทุเรียนกว่า 100 ต้น ด้วยการบริหารจัดการภายใต้หลักการ “พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน”

“ลุกขึ้น-สามัคคี-เรียนรู้” สูตรสำเร็จการบริหารจัดการน้ำ

นี่คือผลลัพธ์ที่เกิดจากการเรียนรู้และค้นหาแนวทางปลดล็อกปัญหาภัยแล้ง ภายใน 3 เดือน ซึ่งเป็นการชุบชีวิตแหล่งน้ำชุมชนที่ถูกทิ้งร้างมานานนับสิบปี ให้กลับมาเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงคนในหมู่บ้านได้อย่างยั่งยืน เมื่อก้าวข้ามปัญหาภัยแล้งได้ ก็สามารถพลิกฟื้นทรัพยากรให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ บวกกับต้นทุนทางวัฒนธรรมที่งดงาม“หมู่บ้านโนนตูมถาวร” จึงเป็นอัญมณีเม็ดงามที่ถูกเจียระไน มีมูลค่าและคุณค่าที่เป็นต้นแบบด้านการพัฒนายั่งยืนพร้อมอวดโฉมต่อยอดสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ