ผสานนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน สร้างความต่อเนื่องธุรกิจ ‘ทรู’

03 ก.ค. 2563 | 08:00 น.

หน่วยงานนวัตกรรมฯ มีบทบาทในการดูว่า เทคโนโลยีอะไรที่กำลังจะเข้ามา และอะไรที่จะเข้ามาดิสรัปธุรกิจ...ถ้าเราจะสร้างความต่อเนื่องให้ธุรกิจได้เทคโนโลยีต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมาก

 

 

เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจในกลุ่มทรู รวมไปถึงเครือซีพี มีความหลากหลายมาก และสิ่งสำคัญที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนเชื่อมโยงธุรกิจเหล่านั้นให้เดินหน้า ก็คือ “นวัตกรรม” ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรอย่าง “ศุภชัย เจียรวนนท์” ที่มอบหมายให้ “ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ” ผู้ช่วยบริหารสำนักประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพ

 

“ผมเป็นคนเริ่มต้นทำนวัตกรรมที่นี่มาเป็นสิบปีแล้ว แต่ถ้าเป็นความยั่งยืน ก็ประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะความยั่งยืนมาทีหลัง”

ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ

 

โจทย์ที่ได้รับในตอนเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มทรู คือ การทรานส์ฟอร์มขององค์กร โดยกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเริ่มต้นจากธุรกิจโทรคมนาคม หรือ การเชื่อมต่อ (Connectivity) พอทำไปเรื่อยๆ ธุรกิจนี้ก็กลายเป็นสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องมี ขาดไม่ได้

ยุคต่อไปของกลุ่มทรู คือการก้าวสู่การเปลี่ยนองค์กรสู่องค์กรดิจิทัล(Digitalization) เป็นเรื่องของ Technology Providers โดยหน่วยงานนวัตกรรมฯ มีบทบาทในการดูว่าเทคโนโลยีอะไรที่กำลังจะเข้ามาและเข้ามาดิสรัปธุรกิจ

 

“ถ้าเราจะสร้างความต่อเนื่องให้ธุรกิจได้ เทคโนโลยีต้องเข้ามามีบทบาทอย่างมาก”

 

จะเห็นว่าเวลาเกิดวิกฤติแต่ละครั้ง แต่ละอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน อุตสาหกรรมที่กระทบมากๆ เช่น อุตสาหกรรมสายการบิน ธนาคารท่องเที่ยว แต่สำหรับโทรคมนาคมถ้ามีการปรับตัวที่ดี ก็ถือเป็นโอกาส เช่น วิกฤติในครั้งนี้ เทคโนโลยีเข้ามาเติมเต็มได้พอดี เช่น การทำโซลูชั่นแพลทฟอร์ม ที่ชื่อ TRUE VIRTUAL WORLD พูดง่ายๆ ก็ช่วยทำให้การดำรงชีวิตของเราต่อเนื่องได้แบบดิจิทัล

 

ผสานนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน สร้างความต่อเนื่องธุรกิจ ‘ทรู’

 

หรือแม้แต่การพัฒนาหุ่นยนต์ หรือ Service Robot ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยี โดยทรู ได้จัดตั้งหน่วยงาน True Robotics ล่าสุด ได้มีการพัฒนาแพลทฟอร์มใหม่ๆด้านการแพทย์ ในช่วงโควิด-19 สนับสนุนเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ หุ่นยนต์ Temi หุ่นยนต์อัจฉริยะ 5G สามารถช่วยเหลือแพทย์พยาบาลในการดูแลผู้ป่วย และ หุ่นยนต์ Homie ซึ่งไปคว้ารางวัลที่รัสเซียมาแล้ว และจะมีการพัฒนาต่อยอดฟีเจอร์ เพื่อรองรับการใช้งานทางการแพทย์ในอนาคตต่อไป  

“ดร.ธีระพล” บอกว่า การเข้ามาทำหน้าที่ดูแลหน่วยงานหุ่นยนต์ตรงนี้ ทำให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา... เราเรียกตัวเองวันนี้ว่า เราเป็นกึ่งๆ Technology Adopers ก็คือ เมื่อเรารับเทคโนโลยีมาแล้ว เราต้องทำหน้าที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีที่ดีด้วย

เมื่อถามว่า คนที่เข้ามาทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกับ “ดร.ธีระพล” ควรมีทักษะอย่างไร เขาบอกเลยว่า เขามีหน้าที่มาแชร์ความฝันกับทรู คนหลายคนอาจเข้าใจว่า นวัตกร คือ คนที่คิดอะไรนอกกรอบ ซึ่งไม่ใช่ เพราะสิ่งที่คิดนั้นต้องทำได้ด้วย และคุณทำคนเดียวไม่ได้ องค์กรต้องการทำเรื่องใหม่ เพราะฉะนั้น คนที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนที่คิดเรื่องใหม่อย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนมองหาข้อดีของทุกๆ เรื่องได้ และต้องแชร์ความฝัน ทำให้คนที่มีพลัง รวมทั้งทีมงานที่จะทำเรื่องนี้ซื้อไอเดียของเรา และทำให้ความฝันนั้นเกิดขึ้นเป็นจริง

“ผมเองก็ต้องแชร์ความฝันให้ทีมบายอิน ทำไมเราต้องทำ สาวสวย ณ สยาม เดิมทีมบอกว่าอย่าทำเลยขายไม่ได้หรอก ทำหุ่นยนต์เหมือนคนมันน่ากลัว แต่คุณศุภชัยบอกว่าทำไมไม่ท้าทายตัวเองว่า ทำออกมาแล้วจะเป็นอย่างไร เมืองไทยยังไม่มีเลย”...นั่นคือการจุดประกายทำให้ทุกคนซื้อไอเดีย และในที่สุด หุ่นยนต์ สาวสวย ณ สยาม จึงเกิดขึ้น

“ดร.ธีระพล” ยังบอกอีกว่า การทำงานลักษณะนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องรอแค่ความสำเร็จใหญ่ๆ เท่านั้น ทุกคนสามารถสร้างความสำเร็จเล็กๆ ไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่จะทำแต่เรื่องใหญ่แล้วล้มเหลวตลอด ความสำเร็จเรื่องเล็กๆ บ่อยๆ มันก็ส่งผลดี เป็นกำลังใจ ผลักดันให้เกิดความสำเร็จในโปรเจคใหญ่ได้

 

ผสานนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน สร้างความต่อเนื่องธุรกิจ ‘ทรู’

 

การขับเคลื่อนนวัตกรรมของกลุ่มทรู ยังเดินหน้าต่อเนื่องและมีโปรเจคใหญ่ๆ อีกมากมาย โดยมุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจเดิมไปสู่เส้นทางของสุขภาพ (Health Care) ที่เป็น Preventive Care ซึ่งต่อไปจะเป็นตลาดที่ใหญ่มากในอนาคต และนี่คือหนึ่งในกลยุทธ์การเดินหน้าสู่องค์กรความยั่งยืน ภายใต้ยุทธศาสตร์ Heart-Health-Home ของ “ศุภชัย เจียรวนนท์”

ด้วยหน้าที่ของนวัตกร ที่ต้องมองไปข้างหน้า เห็นโอกาสของนวัตกรรมที่ใช่แล้ว ก็ต้องเดินหน้าให้เร็ว หลายๆ ครั้ง ที่เห็นมองเห็นสิ่งที่น่าสนใจ ต้องไม่ลืมว่าคนอื่นก็เห็นโอกาสและความน่าสนใจนั้นเช่นกัน เพราะฉะนั้น ถ้าความ เร็วไม่ได้ คนอื่นก็จะคว้าโอกาสนั้นไปทำเสียก่อน

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้าที่ 24  ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563