ซีอีโอ “ซิลิคอน คราฟท์”  นำทีม ฝ่าวิกฤติ โควิด-19

05 เม.ย. 2563 | 04:05 น.

การฝ่าวิกฤติ คือ ต้องบาลานซ์พอร์ตให้ดี บางส่วนเราต้องตั้งรับ ประเมินกรณีที่ร้ายแรงที่สุด แล้วลองประเมินว่าแอกเคาต์ไหนกระทบเยอะสุด เราต้องบาลานซ์พอร์ต เน้นแอพใหม่ขึ้นมา ลูกค้าเก่าก็ต้องมีโปรดักต์ใหม่เพิ่ม ลูกค้าใหม่ก็ต้องหาเพิ่ม

ขณะนี้ ไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 ยังเดินหน้าคร่าชีวิตคนทั่วโลก และยังแพร่ระบาดไม่หยุด โดยหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสนี้ได้ “มานพ ธรรมสิริอนันต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้ออกแบบไมโครชิปไทยรายใหญ่ บอกเลยว่า องค์กรของเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการเริ่มธุรกิจของ ซิลิคอน คราฟท์ เริ่มบุกตลาดจากต่างประเทศมาก่อน และปัจจุบันยังมีลูกค้าต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

 

มานพ ธรรมสิริอนันต์

 

“มานพ” เชื่อว่าในวิกฤติยังมีโอกาส ซิลิคอน คราฟท์ ถือโอกาสนี้ในการปรับรูปแบบธุรกิจ ในเบื้องต้นให้พนักงาน work from home ซึ่งผลการทำงานไม่มีอะไรที่เป็นปัญหา หรือสะดุดในการทำงาน ในขณะที่ผู้นำอย่างเขา ก็ต้องวางแผนเพื่อรับมือเหตุการณ์ (Business Continuity Plan) โดยส่วนของพนักงาน ไม่มีการปลดคนแน่นอน พนักงานของบริษัทจำนวน 115 คน คือ Knowledge Worker ซึ่ง 70% ของคนกลุ่มนี้คือ เอ็นจิเนียร์ ที่เหลือก็เป็นไฟแนนซ์ และอื่นๆ ทั้งหมดล้วนเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่าขององค์กร

“การฝ่าวิกฤติ คือ ต้องบาลานซ์พอร์ตให้ดี บางส่วนเราต้องตั้งรับ ประเมินกรณีที่ร้ายแรงที่สุด แล้วลองประเมินว่าแอกเคาต์ไหนกระทบเยอะสุด ต้องจำลองโมเดล คุยกับฝ่ายการเงินและฝ่ายขาย ลูกค้าอุตสาหกรรมไหนกระทบเยอะที่สุด ก็ต้องวางเทอมเครดิตที่ยาวขึ้น ถ้าจำนวนยอดในโปรดักต์ไลน์นั้นตกลง เราต้องบาลานซ์พอร์ต โดยเน้นแอพใหม่ขึ้นมา ลูกค้าเก่าก็ต้องมีโปรดักต์ใหม่ขึ้นมาเพิ่ม และต้องหาลูกค้าใหม่เพิ่ม”

 

ซีอีโอ “ซิลิคอน คราฟท์”  นำทีม ฝ่าวิกฤติ โควิด-19

 

บางภูมิภาค ซิลิคอน คราฟท์ ยังไม่ได้ไปแตะเลย เช่น ฝั่งเอเชีย ที่เป็นลูกค้าอยู่แล้ว คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตอนนี้จะขยายไปทาง อุซเบกิสทาน ปากีสถาน ซึ่งเริ่มโปรโมตแอนิมอลไอดี ผลิตเองใช้เองในประเทศ และนั้นคือโอกาสทางธุรกิจของซิลิคอน คราฟท์

 

ส่วนตลาดเมืองไทย ขณะนี้กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มให้ไบโอเทค หรือชีวะเคมี เพื่อใช้แพลตฟอร์มของซิลิคอน คราฟท์เป็นมาตรฐาน ไปทำสถิติที่เที่ยงตรงเหมือนไปตรวจในโรงพยาบาลได้

 

“เรามีโปรดักต์ที่ใช้ในไทยได้หลากหลาย แต่เราเริ่มทำตลาดจากข้างนอกมาก่อน ฮาร์ดแวร์ ดีฟเทคเยอะๆ คนไทยไม่ค่อยรู้จัก แต่เราขายเป็นไส้ในสินค้าสำเร็จ เช่น พรินเตอร์ เครื่องกรอง ข้างในมีระบบป้องกันการปลอมแปลง ถ้าเอาของปลอมมาใส่มันไม่เดิน เราก็พยายามดู ว่าโอกาสในการทำไทยแบรนด์ของเราทำได้ไหมเราอยากให้คนไทยมีมูลค่าเพิ่มตรงนี้”

 

ตอนนี้ทางจีน เริ่มฟื้นตัว (recover) โซนยุโรป อเมริกา สะดุด โดยสัดส่วนของยุโรปมีอยู่กว่า 60% เอเชีย 30% ส่วนที่เหลือคือ สหรัฐอเมริกา และอื่นๆ สิ่งที่ต้องทำคือการบาลานซ์พอร์ต ไม่ให้ลูกค้าหนักไปด้านใดด้านหนึ่ง

 

นั่นคือแนวคิดของ ซีอีโอ ซิลิคอน คราฟท์ ที่พร้อมนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติ ในช่วงที่ใครๆ ก็ลำบากไม่แตกต่างกัน

ซีอีโอหนุ่มคนนี้ มาจากครอบครัวที่ต้นทุนติดลบ ที่บ้านมีอาชีพเพียงเปิดร้านขายกาแฟ แต่ด้วยความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์การทำงานอยู่ในซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ทำให้มีโอกาสก่อตั้งบริษัท โดยรวมตัวกับผู้เชี่ยวชาญด้านไมโครชิป ซึ่งสนิทกันตั้งแต่ตอนทำงานที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ ทำงานด้านการออกแบบวงจรรวม (IC Design) แต่เมื่อตลาดเปลี่ยน ฟองสบู่เศรษฐกิจแตก จึงเปลี่ยนแนวจากดีไซน์เซ็นเตอร์ มาเปิดเป็นศูนย์บ่มเพาะ ตั้งรับงาน IC โดยการชักชวนของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

 

ซีอีโอ “ซิลิคอน คราฟท์”  นำทีม ฝ่าวิกฤติ โควิด-19

 

ปัจจุบัน สินค้าของซิลิคอน คราฟท์ แบ่งเป็น 4 กลุ่มตามลักษณะการใช้งาน ได้แก่ ไมโครชิปสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ของยานยนต์ (Immobilizer) ไมโครชิปสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag) ไมโครชิปสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ (Access Control) และระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator) และยังมีสินค้าและบริการอื่นๆ อาทิ ใช้สำหรับระบบฉลากอัจฉริยะเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า (Smart Label or Anti-counterfeiting) หรือใช้สำหรับตรวจวัดค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ (Smart Sensor) เป็นต้น

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  หน้า 28 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2 - 4 เมษายน พ.ศ. 2563

ซีอีโอ “ซิลิคอน คราฟท์”  นำทีม ฝ่าวิกฤติ โควิด-19