TGDA ส่งเสริมนักคิด นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

29 มี.ค. 2563 | 03:10 น.

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขานรับนโยบายรัฐในการส่งเสริมเศรษฐกิจบนฐานชีวภาพ (Bio Economy) มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพิ่มคุณค่า หรือประยุกต์ใช้งานให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว ทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์” รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่า มหาวิทยาลัยได้จัดประกวด Thailand Green Design Awards 2020 หรือ TGDA 2020 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแนวความคิดสิ่งประดิษฐ์ และการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง และจะทำต่อไป แม้บางผลงานอาจจะยังไม่ถูกใจตลาด มีราคาแพง ยังไม่สามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ แต่ทุกสิ่งที่คิดค้นมาล้วนมาจากนวัตกรรมและความรู้สึกที่เป็นเทรนด์ของโลก ที่ควรค่าแก่การต่อยอด ทั้งในแง่การพัฒนาเป็นสินค้าและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์

TGDA ส่งเสริมนักคิด นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

 

ปีนี้ได้เห็นผลงานที่พยายามแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ส่งเข้ามาประกวดกว่า 173 ผลงาน จากผู้ประกอบการและนักศึกษาทั่วประเทศ และมีเพียง 17 ผลงาน ที่ผ่านเกณฑ์การตัดสิน ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประกวด

หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจ ซึ่งคณะจัดการประกวดฯ ได้มอบรางวัลพิเศษเยาวชนไทยหัวใจสีเขียว ให้แก่ ธรรมนูญ รุจิญาติ และ รัตนพงค์ แก้วนรา นักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จากผลงาน “เตาปิ้งย่างลดควันระบบป้องกันการไหม้ด้วยนํ้า” ซึ่งมีคุณสมบัติประหยัดพลังงาน ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร และลดรอยไหม้จากการปิ้งย่าง ด้วยการใช้วัสดุไร้สนิม ตะแกรงย่างมีลักษณะเป็นท่อกลวง และมีการไล่อากาศในท่อตะแกรง ระบบการปิ้งย่างให้ความร้อนได้ 3 ระบบ ไม่ทำให้วัตถุดิบที่นำมาย่างไหม้ ใช้สะดวกและปลอดภัย ผลงานชิ้นนี้ ปัจจุบันได้ขยายผลไปในเชิงพาณิชย์แล้วโดยนำไปใช้ที่ชุมชนบ้านโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

TGDA ส่งเสริมนักคิด นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังมีรางวัล ป๊อปปูลาร์โหวต ได้แก่ กล่องข้าวน้อยฆ่าขยะอินทรีย์ ของ ภัทรดนัย ธูปสุวรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันได้จดอนุสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ผลงานชิ้นนี้ผลิตจากใบของธูปฤาษี หาง่ายตามท้องถิ่น เปลี่ยนวัชพืชให้เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้เองตามธรรมชาติ ทุกชิ้นส่วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตถึงกระบวนการย่อยสลาย สามารถบรรจุขยะอินทรีย์ได้เต็มกล่อง สามารถเลือกขนาดได้ตามพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน

ส่วนผลงานอื่นๆ ที่ได้รับรางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ ปู่สงัด อินมะตูม คนปลูกต้นไม้แห่งพรหมพิราม, ปู่กาจ จิรธนาวุฒิ ผู้สูงวัยที่ทำประโยชน์ให้แก่ชุมชนด้วยการปลูกต้นไม้นานาชนิด, นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จ.กาญจนบุรี, นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นางสาวศิรพันธ์ วัฒนจินดา คู่รักดาราสายกรีน, ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรง-นาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และประเภทองค์กร ได้แก่ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC), รักษ์ไม้ใหญ่ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Big Trees), บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) และ รายการทุ่งแสงตะวัน

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

TGDA ส่งเสริมนักคิด นวัตกรรมสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อม