ทำความเข้าใจและป้องกัน กับ วัฏจักรฝุ่น PM 2.5

20 ม.ค. 2563 | 10:00 น.

PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ สามารถแพร่กระจายเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และกระแสเลือด โดยตรงส่งผลอันตรายต่อกระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง...นี่คือความรู้ที่คนไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ได้รับรู้มาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว และยังต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ทั้งคนกรุงและอีกหลายจังหวัดของไทย ก็ยังต้องเผชิญกับ “ภัยฝุ่น PM 2.5”

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 ระบุว่าต้นกำเนิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ กว่า 60% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดควันดำและฝุ่น และอีกราว 35% มาจากการเผาขยะ หญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง ในที่โล่งแจ้ง และการก่อสร้าง

ทำความเข้าใจและป้องกัน กับ วัฏจักรฝุ่น PM 2.5

“สนธิ คชรัตน์” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีมานานแล้ว แต่ที่เพิ่งจะมีการตื่นตัวกันเนื่องจากเพิ่งจะมีเครื่องมือวัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ประกอบกับปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นตัวหนุนในช่วงปลายปีเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ ที่อากาศค่อนข้างปิด ทำให้กรุงเทพฯที่เป็นเมืองใหญ่มีอาคารสูงล้อมรอบจำนวนมาก จึงไม่มีที่ให้ลมถ่ายเทและระบายอากาศได้อย่างสะดวกเพียงพอ มลพิษ ฝุ่น ควันต่างๆ จึงไม่สามารถระบายออกไปได้

ในช่วงปลายปีของไทยที่เข้าสู่ช่วงอากาศเย็น จะเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือ เคลื่อนตัวลงมาปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้รูปแบบการเคลื่อนตัวของชั้นอากาศเหนือประเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะพื้นดินคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินนั้นเย็นตามไปด้วย ทำให้อากาศร้อนดันขึ้นไปอยู่คั่นกลางระหว่างชั้นอากาศเย็น กลายสภาพเป็นเกราะ หรือที่เรียกกันว่าอากาศปิด เนื่องจากไม่มีช่องว่างให้อากาศไหลผ่านไปตามระบบ อากาศ รวมถึงฝุ่นพิษที่สะสมอยู่ จึงไหลย้อนกลับลงสู่พื้นดินอีกครั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดอากาศปิด มลภาวะในอากาศจึงสูงตามไปด้วย

ฝุ่น PM 2.5 กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งมีความมากน้อยแตกต่างกันในช่วงเวลาและภูมิภาคตามปัจจัยภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบ เริ่มจากกรุงเทพฯ ที่มักจะเกิดในช่วงความกดอากาศสูง ตอนเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ภาคตะวันออกและตะวันตก ที่เป็นพื้นที่เพาะปลูก ก็ได้รับผลกระทบจากการเผาพื้นที่การเกษตร เช่น ไร่อ้อย ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ของทุกปี ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลาง จะได้รับผลกระทบจากความกดอากาศตํ่าจากกรุงเทพฯที่แผ่ขึ้นไปยังภาคเหนือ 10 จังหวัด ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่มกราคม - เมษายน ขณะที่ภาคใต้จะเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคมของทุกปี เนื่องมาจากการเผาพื้นที่การเกษตรและหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา

ทำความเข้าใจและป้องกัน กับ วัฏจักรฝุ่น PM 2.5

เมื่อดูจากปัจจัยแวดล้อมทั้งฤดูกาล ความกดอากาศ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและนอกประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าวงรอบคุณภาพอากาศของประเทศไทยมีโอกาสเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เรียกว่า PM 2.5 ต่อเนื่องตลอดปี โดยมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี และลดตํ่าลงในช่วงกลางปีที่เป็นฤดูฝน รับมือกับฝุ่น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าในภาวะที่เกิดมลพิษทางอากาศควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่ในผู้ที่จำเป็นจะต้องสัมผัสและอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการดูแลป้องกันที่ดีมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพในระบบหายใจ ระบบหลอดเลือด และระบบประสาท โดยทุกคนถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง ตั้งแต่ในกลุ่มผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และเด็ก นับว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้น วิธีป้องกันและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5 ที่ทำได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดในขณะนี้คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้คุณภาพมาตรฐาน สามารถกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

“ธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์” ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทยฯ ให้คำแนะนำในการเลือกหน้ากากป้องกัน PM 2.5 โดยอ้างอิงจากข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ว่า หน้ากากต้องเป็นชนิด N95 ตามมาตรฐาน NIOSH ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในระยะหลังนี้คนไทยคุ้นเคยดี แต่ถ้าหาซื้อหน้ากาก N95 ไม่ได้ แนะนำให้ใช้หน้ากากมาตรฐานอื่นที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันทดแทน ได้แก่ หน้ากากชนิด FFP2 มาตรฐานยุโรป (EN149) หรือหน้ากากชนิด P2 มาตรฐานออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (AS/NZS 1716) หน้ากากทั้ง 3 มาตรฐานมีหลายรุ่น หลายขนาด หลายรูปแบบ สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ที่เล็กประมาณ 1 ใน 25 เท่าของเส้นผมมนุษย์ ทำให้ขนจมูกมนุษย์ของเรานั้นไม่สามารถกรองเอาไว้ได้

นอกจากเรื่องมาตรฐานแล้ว ในการสวมใส่หน้ากาก ต้องทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ดัดแปลงวิธีการสวมใส่และปรับแต่งวัสดุบนหน้ากาก จากนั้น ผู้สวมใส่ควรทำความคุ้นเคยกับหน้ากาก โดยเลือกรุ่นที่สวมใส่ได้สะดวกสำหรับตัวเอง เช่น ในผู้ที่เริ่มสวมใส่อาจเลือกแบบมีลิ้นวาล์วระบายอากาศ เพื่อช่วยระบายความร้อนอบอ้าวภายในหน้ากาก สวมใส่ให้แนบกระชับกับใบหน้า เพื่อประสิทธิภาพในการกรองอากาศและลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วย หรือเกิดโรคจากอนุภาคที่ปนเปื้อนในอากาศ และควรหมั่นสังเกตหน้ากาก หากเริ่มรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวกแสดงว่าหน้ากากเริ่มอุดตัน หรือหน้ากากเริ่มชำรุด สกปรก ก็ควรเปลี่ยนหน้ากากกรองใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการกรองที่ดีและปลอดภัย  

ฝุ่นมีวัฎจักรที่วนเวียนรอบตัวเราตลอดปีและอาจจะตลอดไป สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรทำ คือ การร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหา ร่วมสร้างความรู้และความเข้าใจถึงพิษภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

 

ทำความเข้าใจและป้องกัน กับ วัฏจักรฝุ่น PM 2.5