มิสชัน ซีอีโอไลท์เน็ท สู่ฟินเทคระดับยูนิคอร์น

18 ม.ค. 2563 | 08:00 น.

ผมสนใจเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินอยู่แล้ว และต้องการสร้างโปรดักต์ทางการเงินให้รองรับทุกๆ เซกเม้นต์ได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีเอไอ บล็อกเชน มาใช้ เพื่อทำให้ต้นทุนตํ่าลง ในขณะที่การใช้งานง่าย สะดวกสบาย

เป้าหมายสูงสุดของสตาร์ตอัพแทบทุกราย คือ การก้าวสู่การเป็น Unicorn (ยูนิคอร์น) หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีสตาร์ตอัพไทยรายได้ก้าวสู่ตำแหน่งนั้นได้ โดยเฉพาะในสาย FinTech (Financial Technology) เพราะลำพังจะสร้างให้ธุรกิจอยู่รอด ก็ยังยากเต็มทน แต่สำหรับ บริษัท Lightnet “สุวิชชา สุดใจ” CEO ของบริษัท Lightnet เขาบอกเลยว่า... เมื่อเข้ามาลุยแล้ว ก็ต้องไปให้สุด

ซีอีโอ หนุ่มคนนี้ จบวิทยาการคอมพิวเตอร์  และเอ็มบีเอ จากสหรัฐอเมริกา และเคยร่วมงานกับ 2 ธนาคารใหญ่ โดยนั่งเป็นรองประธานบริหารหัวหน้าฝ่ายนวัตกรรมธุรกิจของธนาคารกรุงไทย และยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Digital Ventures ของธนาคารไทยพาณิชย์

มิสชัน ซีอีโอไลท์เน็ท สู่ฟินเทคระดับยูนิคอร์น

“สุวิชชา” เล่าว่า  Lightnet ก่อตั้งโดย ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ เจ้าของนิตยสารฟอร์จูน และนักธุรกิจในหลากหลายสาขา ทั้งด้านโทรคมนาคม พลังงาน รวมไปถึงการเงิน และ ตฤบดี อรุณานนท์ชัย อดีตนักการเงินและผู้ประกอบการสายเทคโนโลยี โดย ชัชวาลย์ คือ ผู้ทำหน้าที่กำหนดวิชัน และแนวทางการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งมุ่งเน้นการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อเทคโนโลยีกับสถาบันการเงิน เพื่อทำให้การให้บริการทางการเงินมีประสิทธิภาพ ง่าย ปลอดภัย ต้นทุนตํ่า และรวดเร็ว โดยตั้งเป้าให้บริการกับคนทั่วเอเชีย และจะพัฒนาไปสู่บริการที่คนทั่วโลกต้องการ ผ่านเทคโนโลยี Blockchain บนเครือข่ายระบบปฏิบัติการจากอเมริกาในนาม Stellar Network ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่จะมาเปลี่ยนโฉมโลกการเงินออนไลน์ในอนาคต

จากวิชันของผู้ก่อตั้ง มาสู่มิสชันของ ซีอีโอ ที่จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อน “สุวิชชา” ได้รับการชักชวนจากผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสอง ซึ่งถือเป็นงานที่น่าสนใจ และตรงกับเป้าหมายส่วนตัว คือ ความต้องการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์การให้บริการทางด้านการเงินกับผู้มีรายได้น้อย รวมไปถึงพวก under bank เช่น นักท่องเที่ยว หรือ ผู้ที่ต้องการโอนเงินข้ามประเทศ แต่มีปัญหากับการเชื่อมต่อ กับระบบทางการเงิน (Financial Inclusion) ของบางประเทศ

“ผมสนใจเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินอยู่แล้ว และต้องการสร้างโปรดักต์ทางการเงินให้รองรับทุกๆ เซกเม้นต์ได้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจที่จะมาทำที่นี่ มีการนำเอไอ บล็อกเชน มาใช้ เพื่อทำให้ต้นทุนตํ่าลง ในขณะที่การใช้งานง่าย สะดวกสบาย”

ภารกิจของซีอีโอคนนี้ คือ การสร้างบริการแบบบูรณาการ financial service integrated ที่ช่วยลดการกระจายตัว (fragmentation) ของบริการทางการเงิน โดยการนำบล็อกเชนมาบูรณาการ หรือปลั๊ก-อินร่วมกับแพลตฟอร์มของสถาบันการเงินพันธมิตรต่างๆ โดย Lightnet ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง โดยการทำงานโปรเจ็กต์นี้เริ่มขึ้นเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว และในปีนี้ คือ การนำเสนอโปรดักต์ที่จะทยอยเข้ามาทำตลาดต่อเนื่องใน 3 ไตรมาสแรก ซึ่งขณะนี้กำลังเทสต์โปรดักต์ร่วมกับพาร์ตเนอร์หลายๆ ราย

“บริษัทจะทำธุรกิจแบบบีทูบี เราเป็นแพลตฟอร์ม เป็นอินฟราสตรักเจอร์ที่ต่อกับบริษัทต่างๆ เรามีการพูดคุยกับหลายๆ แบงก์ ทั้งไทย และต่างชาติ เช่น เซเว่น แบงก์ จากประเทศญี่ปุ่่น”

ความท้าทายของการทำธุรกิจนี้ คือ การสร้างเชื่อมั่นให้กับพาร์ตเนอร์ ซึ่ง Lightnet มีผู้ก่อตั้งที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถืออยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีพาร์ตเนอร์ผู้ร่วมลงทุนอีกหลายราย ที่เข้ามาช่วยการันตีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นเครือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง UOB Venture Management, Seven Bank, Uni-President Asset Holdings, HashKey Capital, Hopeshine Ventures, Signum Capital, Du Capital และ Hanwha Investment and Securities

อีกหนึ่งความท้าทายคือ การเข้าใจในความต้องการของพาร์ตเนอร์ และลูกค้าผู้ใช้บริการ ซึ่ง “สุวิชชา” บอกว่า ประสบการณ์จากการทำงานในแบงก์ไทยพาณิชย์และกรุงไทย ถือเป็นฐานความรู้ที่ดี ที่ทำให้เขาเข้าใจความต้องการการใช้งานจากลูกค้าตัวจริง ที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ของผู้ใช้จริงๆ และพื้นฐานความรู้เหล่านี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ ที่จะทำให้ฟินเทคทั้งหลายสามารถประสบความสำเร็จในการบริหารงานได้ รวมไปถึงการกำหนดวิชันที่มุ่งเป้าสู่ตลาดภูมิภาค และตลาดระดับโลก ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้ฟินเทคไทย สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และนั่นคือ โอกาสที่จะทำให้ฟินเทคทั้งหลายสามารถสเกล และเดินหน้าสู่ยูนิคอร์นได้ต่อไป

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563

มิสชัน ซีอีโอไลท์เน็ท สู่ฟินเทคระดับยูนิคอร์น