สร้างธุรกิจเพื่อสังคม  สไตล์นายกสมาคมภัตตาคารไทย

18 ม.ค. 2563 | 09:25 น.

การทำธุรกิจเพื่อสังคม ถือเป็นแนวคิดที่แทรกซึมอยู่ในกระบวนการทำงานของผู้หญิงที่ชื่อ “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่ๆ ก็เริ่มต้นการทำธุรกิจด้วยการเป็นเจ้าของรายการสารคดี “ดรุณธรรม” ซึ่งเป็นรายการที่ว่าด้วยการส่งเสริมจริยธรรมให้กับเด็กๆ และเป็นรายการที่ทำให้เธอได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ตั้งแต่ปีแรกของการทำรายการ

การทำธุรกิจในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) คือกิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้และนวัตกรรมสังคม มีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาค และมีการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซํ้าเพื่อขยายผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น...“นายกสมาคมภัตตาคารไทย” ไม่ได้บอกว่า เธอทำทุกอย่างเพื่อสังคม แต่สิ่งที่ทำ แสดงให้เห็นว่า มันคือ ส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสังคมให้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องประกาศ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า มันอาจเป็นจิตสำนึกที่ได้รับการหล่อหลอมมาตั้งแต่ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่สอนให้เรารักประชาชน

ฐนิวรรณ กุลมงคล

ในขณะเดียวกัน ความชื่นชอบส่วนตัวที่ชอบงานด้านสื่อสาร แม้จะจบด้านศิลปศาสตร์มา ก็ทำให้มีโอกาสได้ไปทำรายการทีวีเกี่ยวกับเด็ก ตั้งแต่เริ่มต้น แต่เมื่อตลาดเปลี่ยน สถานีโทรทัศน์ไม่ให้ความสำคัญกับรายการเด็กมากนัก ทำให้รายการเด็กไปได้เวลาอยู่ในช่วงที่ไม่มีคนดู โฆษณาไม่เข้า จึงทำให้หลายรายการต้องปิดตัวลง เช่นเดียวกับรายการดรุณธรรม ซึ่งในระหว่างนั้น เธอได้เริ่มเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร โดยการเปิดร้าน “รสเกษตร” ที่บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตร และนั่นก็เป็นอีกสถานที่ ที่ทำให้ผู้หญิงคนนี้ มองเห็นว่า เธอสามารถช่วยเหลือสังคมของเด็กเสิร์ฟ ที่ขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ให้ดีขึ้นได้ โดยการให้ความรู้และวางพื้นฐานการทำงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแต่ละคน รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพร้านอาหารให้ได้มาตรฐาน และมีสุขอนามัยที่เหมาะสม เรียกว่าได้พัฒนาทั้งคนและวงการร้านอาหารไปพร้อมๆ กัน ซึ่งขณะนั้น ได้เริ่มเข้าไปช่วยงานในสมาคมภัตตาคารไทยแล้ว

“ถ้าเราอยากพัฒนาพนักงานเสิร์ฟ คือเราควรเข้าไปทำร้านอาหาร เพราะจะทำให้เราได้สัมผัสกับเขาจริงๆ...ความคิดตอนนั้น ก็อยากช่วยสังคม อยากช่วยเด็ก พนักงานเสิร์ฟ อยากช่วยสังคมร้านอาหาร จากคนที่ไม่มีคุณภาพ ถ้าเราได้เข้าไปทำ เราจะสามารถพัฒนาคน ซึ่งตอนนั้นได้เข้าไปช่วยงานในสมาคมภัตตาคารอาหารไทย และรักษาการนายกสมาคมฯ มาหลายปี สิ่งที่ต้องการพัฒนาต่อในตอนนั้น นอกจากอาหารที่สะอาด รสชาติอร่อยแล้ว เรื่องของ การสุขาภิบาลอาหาร (food sanitation) หรือ กระบวนการจัดการและควบคุมขั้นตอนต่างๆ ในการผลิตอาหาร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ จนถึงมือผู้บริโภคก็ควรต้องพัฒนาและปรับปรุงด้วย”

แนวคิดเหล่านั้น ทำให้นายกสมาคมภัตตาคารไทยท่านนี้ ได้เข้าไปพัฒนาวงการร้านอาหารหลายๆ เรื่อง พร้อมผลักดันและสนับสนุน เรื่องของครัวไทยต้องเป็นครัวโลก ต้องสอนให้คนรู้จักกินอาหารให้เป็นยา การพัฒนาร้านอาหารเล็กๆ ทำให้คนเข้มแข็งขึ้น มีรายได้ที่ดีขึ้น

กว่า 20 ปีที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหาร และเป็นเจ้าของกิจการอาหารกล่องดีลิเวอรีแบรนด์ “กล่องทิพย์” ทำให้รู้ว่า ในขณะนี้ไทยเรามีร้านอาหารแผงลอยกว่า 3 แสนราย และมีร้านอาหารหรู ร้านอาหารโรงแรม อีกกว่า 1 แสนราย ในขณะเดียวกัน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังมีรายได้มากกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ในธุรกิจนี้หากมีการสื่อสารที่ดี มีการให้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพราะมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีก 13 สาขาอาชีพ หากข้อมูลทุกอย่างมีการเชื่อมโยงกันได้ นอกจากจะส่งเสริมให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตดีขึ้นแล้ว จะยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น ตามความต้องการของรัฐบาลที่พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศอย่างทั่วถึงได้

ในช่วงปีที่ผ่านมา “ฐนิวรรณ” ได้มีโอกาสเข้าไปทำรายการวิทยุเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ทำให้ได้เห็นว่า สื่อตัวนี้ สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้จริงๆ หลังจากนั้น มีโอกาสได้ขยับขยายเวลาการจัดรายการ จากเดิม 4 ชั่วโมง เป็น 20 ชั่วโมง ในคลื่น 104 เอฟ.เอ็ม. ของกองทัพบก ซึ่งก่อนหน้านี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เคยจัดเป็นช่องรายการเพลง แต่ต้องยกเลิกสัมปทานไปด้วยความที่พฤติกรรมของผู้ฟังเปลี่ยนไป การรับสื่อเปลี่ยนไป แต่เธอเชื่อว่า รายการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวน่าจะไปได้ บวกกับประสบการณ์ และเน็ตเวิร์กพันธมิตรที่มีอยู่ จะทำให้เธอสามารถขับเคลื่อนคลื่น ทราเวิลเรดิโอ คลื่นนี้ ให้เกิดขึ้นได้

สร้างธุรกิจเพื่อสังคม  สไตล์นายกสมาคมภัตตาคารไทย

เป้าหมายของเรา คือ การใช้สื่อเป็นช่องทางเชื่อมโยงสินค้าเกษตร ขณะเดียวกันก็สร้างให้เกิดความต้องการในตลาด ด้วยการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านทางรายการ ช่วยทำให้เกษตรกรได้ราคาสินค้าที่ดีขึ้น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกษตรกร และยังดึงสมาคมภัตตาคารไทย กรรมการ รวมทั้งคนในแวดวงมาช่วยกัน โดยเราทำหน้าที่เชื่อมโยง 

ด้วยช่วงเวลาสั้นๆ ที่กำลังเริ่มก่อตั้ง และวางผังรายการให้เข้ารูปเข้าร่าง ขณะนี้ คลื่นทราเวิลเรดิโอ เริ่มสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และชุมชนที่มีปัญหาการขายผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น มังคุด ลองกอง กุ้งก้ามกราม โดยรายการวิทยุแห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์ ทำให้ผู้บริโภค มาพบกับผู้ผลิตโดยตรง ถือเป็นวินวิน ที่สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตและเกษตรกรที่แท้จริง

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563

สร้างธุรกิจเพื่อสังคม  สไตล์นายกสมาคมภัตตาคารไทย