ยืดอายุสิ่งของ ด้วยวัสดุซ่อมแซมตัวเองได้

18 ม.ค. 2563 | 08:25 น.

 

หนึ่งในแนวคิดหลักของ เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่กำลังแทรกซึมเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเรามากยิ่งขึ้น ก็คือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรหรือสิ่งของที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด และใช้งานให้ได้ยาวนานที่สุด นั่นเป็นโจทย์สำคัญที่บรรดาผู้ประกอบการและนักอุตสาหกรรมที่มีแนวคิดสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน พยายามค้นหาคำตอบว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้สินค้าที่ผลิตออกมา สามารถใช้งานได้ทนทานยาวนานเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ยืดอายุสิ่งของ ด้วยวัสดุซ่อมแซมตัวเองได้

หลายรายค้นพบคำตอบในนวัตกรรมเกี่ยวกับวัสดุ พวกเขาวิจัยและพัฒนาวัสดุใหม่ๆออกมา ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะวัสดุที่แข็งแกร่งทนทานมากขึ้นเท่านั้น แต่หลายรายยังคิดค้นวัสดุใหม่ที่มีคุณสมบัติสามารถซ่อมแซมตัวเองเมื่อเกิดการชำรุดหรือแตกหัก เช่นกรณีของ บริษัท โมโตโรลาฯ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งยื่นขอจดสิทธิบัตรจอภาพโทรศัพท์มือถือที่สามารถคืนสภาพ หรือจะเรียกว่า “ซ่อมแซม” ตัวเองก็ได้ กรณีเกิดการร้าวหรือแตกหัก โดยบริษัทใช้เทคโนโลยีวัสดุประเภทที่เรียกว่า “เชป เมมโมรี โพลิเมอร์” (shape memory polymer) ที่เมื่อได้รับความร้อน มันจะสามารถเชื่อมประสานรอยร้าวหรือรอยแตกหักบนหน้าจอเข้าเป็นเนื้อเดียวกันอีกครั้ง หรือกรณีของบริษัท ซัมซุงฯ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากเกาหลีใต้ ที่เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการวิจัยคุณสมบัติของวัสดุให้สามารถซ่อมแซมตัวเอง (self-healing materials) เช่นกัน อาทิ โครงการที่ซัมซุงจับมือกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ร่วมกันพัฒนาวัสดุประเภทโพลิเมอร์ชนิดใหม่ที่สามารถกลับคืนสภาพหรือซ่อมแซมตัวเองเมื่อถูกเจาะรูหรือทำให้ฉีกขาด

ยืดอายุสิ่งของ ด้วยวัสดุซ่อมแซมตัวเองได้

อาจจะฟังดูเหมือนฉากในหนังไซ-ไฟของฮอลลีวูด หรือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร่ แต่งานทดลองเหล่านี้มีความคืบหน้าเป็นลำดับในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา และกลายเป็นนวัตกรรมที่เข้าใกล้วิถีชีวิตผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นคอนกรีต หรือปูนผสม ที่สามารถลบเรือนรอยแตกร้าวด้วยตัวของมันเอง และล่าสุด นายไฉ หลี่เหิง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ได้จดสิทธิบัตรวัสดุใหม่เป็นยางที่สามารถซ่อมแซมตัวเอง โดยเมื่อถูกยืดหรือดึงแรงๆ มันจะไม่ฉีกขาดแต่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิม เมื่อหยุดดึง นั่นหมายถึง ต่อไปในอนาคตเราอาจจะมียางรถยนต์ที่ไม่มีวันสึกหรอ และใช้งานได้ยาวนานตลอดไป

 

นักวิจัยกล่าวว่า เราสามารถนำวัสดุใหม่นี้ไปใช้ในการผลิตสิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ในห้องทดลองหรือในกระบวนการวิจัยอีกต่อไป แต่อยู่ที่ว่าผู้ผลิตสินค้าและนักอุตสาหกรรมจะนำงานวิจัยหรือผลงานสิทธิบัตรเหล่านี้ ไปผลิตเป็นสินค้าอะไรออกมาให้เราได้ใช้กันมากขึ้นหรือไม่ ทดแทนผลิตภัณฑ์เก่าๆ ที่มีความคงทนน้อยกว่า แต่อาจจะทำเงินได้มากกว่าเพราะเมื่อหมดอายุการใช้งานและผู้คนต้องโยนทิ้งไป พวกเขาก็ต้องซื้อหามาใช้ใหม่ ต่างจากสิ่งของที่คงทนยาวนาน กว่าจะทำยอดขายใหม่อีกครั้ง ดูเหมือนจะมีประเด็น “ได้อย่าง เสียอย่าง” ให้ต้องขบคิดกันต่อไป

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563

ยืดอายุสิ่งของ ด้วยวัสดุซ่อมแซมตัวเองได้