'ลดขยะ'ด้วยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

13 ม.ค. 2563 | 09:00 น.

 

ส่วนหนึ่งที่สำคัญของแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy คือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุด นี่คือแนวคิดที่เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ ที่หลายประเทศมองว่าไม่ใช่เป็นเพียงแค่ “ทางเลือก” เท่านั้น แต่ยังเป็น “ทางรอด” ของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน

 

เราจะได้เห็นแนวคิดดังกล่าวนี้ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี้คือ กระแสหลักที่โลกกำลังหมุนไปในทิศทางนั้น การประกาศยกเลิกแจกถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในห้างร้านและซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำหลายแห่งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา คงทำให้เรามองเห็นแล้วว่า กระแสคลื่นแห่งการคิดก่อนใช้ และใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ผนวกการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังท่วมโลกนั้น กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตของเรามากเพียงใด

'ลดขยะ'ด้วยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

คอลัมน์ใหม่แกะกล่อง “Circular Economy ชีวิตดี เริ่มที่เรา” ที่ประเดิมในฉบับนี้เป็นครั้งแรก ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น (ซึ่งทุกการเปลี่ยนแปลงมักจะเริ่มด้วยความยุ่งยาก ลำบาก และไม่ชิน) แต่เชื่อเถอะว่า ประเทศอื่นๆทั่วโลก ก็กำลังเผชิญกับสิ่งนี้เช่นกัน ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ยากเกินไป และเราก็มีตัวอย่างดีๆให้ดูเป็นต้นแบบจากหลายๆประเทศ

 

ยกตัวอย่างแนวโน้มการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปีนี้ จะยังคงทิศทางการเลือกใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ 100% จำนวนมากขึ้น ยกตัวอย่าง บริษัท ฟอนเทอราฯ(Fonterra) เจ้าของผลิตภัณฑ์นม-เนย จากนิวซีแลนด์ ประกาศจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำไปรีไซเคิล (recyclable) นำกลับมาใช้ใหม่ (reusable) หรือสามารถย่อยสลายในธรรมชาติ (compostable) ทั้งหมดภายในปี 2568 ขณะที่ บริษัท เฟเซอร์ฯ (Fazer) ผู้ผลิตขนมช็อกโกแลตจากประเทศฟินแลนด์ ประกาศใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมดและไม่มีส่วนประกอบของไมโครพลาสติกเป็นภาชนะบรรจุขนม เพื่อให้ลูกค้าฟินกับความอร่อยได้โดยไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม

'ลดขยะ'ด้วยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

อีกเทรนด์ยอดฮิตในแวดวงบรรจุภัณฑ์ คือการนำเทคโนโลยีมาผนวกกับวัสดุธรรมชาติ สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์กินได้ (edible packaging) อาทิ กระดาษห่อที่ทำจากข้าว สาหร่าย หรือมันฝรั่ง ตัวอย่างล่าสุดคือสายการบิน แอร์ นิวซีแลนด์ ที่ทดลองใช้ “ถ้วยกาแฟกินได้” (และอร่อยด้วย เหมือนกินขนมคุกกี้) เพื่อลดปริมาณถ้วยกาแฟพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ทั้งบนเครื่องบินและที่สนามบิน

 

อาศัยความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อชีวิตและสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า และความเข้าใจว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน ช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร สัปดาห์หน้าเรามาพบกับ “แรงบันดาลใจ” จากเรื่องราวของวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียนในต่างแดน แล้วจะได้มั่นใจว่า ไม่มีอะไรที่ยากเกินไป และ...ชีวิตดีๆ เริ่มที่ตัวเรา

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2563

'ลดขยะ'ด้วยบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก