‘1 เท่ากับ 5’ แรงงานยุคดิสรัปต์ต้องแกร่ง

14 ธ.ค. 2562 | 10:10 น.

ในยุคที่ทั้งองค์กร และบุคลากรต้องปรับตัว เพื่อแข่งขันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพบุคลากรมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็มีความต้องการประสิทธิภาพ และศักยภาพของบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ด้วยจำนวนบุคคลที่ไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม หรืออาจต้องลดลง เพื่อการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ  

“ธันวา จุลชาติ” ผู้จัดการฝ่ายดิจิทัล คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทย กล่าวว่า บุคลากรถือเป็นต้นทุนประมาณ 40-60% ของแต่ละองค์กร ทำให้ผู้บริหารองค์กรต้องพิจารณาและให้ความสำคัญกับส่วนของบุคลากรอย่างเต็มที่ การปฏิรูปธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มระบบดิจิทัล องค์กรหลายแห่งในไทย ต่างปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการปฏิรูปธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มระบบดิจิทัล มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานขององค์กรต่างๆ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ประเภทธุรกิจ และโครงสร้างองค์กร

‘1 เท่ากับ 5’ แรงงานยุคดิสรัปต์ต้องแกร่ง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ยังส่งผลกระทบต่อการบริหารทุนมนุษย์ ตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหาบุคลากร การบริหารประสิทธิภาพการทำงาน ไปจนถึงการพัฒนาและการรักษาพนักงานผู้มีความสามารถ โดยทุนมนุษย์ถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ซึ่งสร้างหลักประกันทั้งความยั่งยืน ความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างผลกำไร

นอกจากการสรรหาบุคลากรผู้มีความสามารถใหม่ๆ องค์กรยังต้องพัฒนาผู้มีความสามารถที่มีอยู่เดิม ผ่านการฝึกฝนทักษะซํ้าและยกระดับทักษะของผู้มีความสามารถเหล่านี้ให้มีความสามารถตอบโจทย์การขับเคลื่อนธุรกิจให้หลากหลาย โดยเฉพาะการปฏิบัติงานได้หลายหน้าที่ ซึ่งความคาดหวังรูปแบบใหม่นี้ องค์กร “ต้องการให้ 1 คน สามารถบริหารงานอื่นๆ ได้ดีเทียบเท่ากับงานที่เคยทำโดย 5 คนในอดีต” รูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ จะใช้พนักงานจำนวนน้อยลง โดยที่ยังสามารถขับเคลื่อนการผลิตต่อไปได้

‘1 เท่ากับ 5’ แรงงานยุคดิสรัปต์ต้องแกร่ง

 

เมื่อมีบุคลากรผู้มีความสามารถด้านระบบดิจิทัลรุ่นใหม่ซึ่งประกอบด้วยคนหลายรุ่นในกลุ่มงานเดียวกัน วิธีปฏิบัติหรือระบบงานทรัพยากรบุคคลเพียงรูปแบบเดียวจึงไม่เพียงพออีกต่อไป การแบ่งกลุ่มคนจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เมื่อต้องบริหารการจ่ายผลตอบแทนและผลประโยชน์ ผู้มีความสามารถด้านระบบดิจิทัล จะต้องการงานที่ท้าทายมากกว่า ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงกว่า โดยมีความยืดหยุ่นในสภาพแวดล้อมการทำงานมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ พวกเขายังเรียนรู้ได้ฉับไวมากกว่า และยังให้ความสำคัญกับการมีเงินเดือนที่สูงกว่า การเติบโตในสายอาชีพที่รวดเร็วกว่า และสถานะในชีวิตที่ดีขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่า

“ธันวา” บอกอีกว่า การที่องค์กรจะเพิ่มอัตราค่าจ้าง เขาจะคำนึงถึงความคุ้มค่าคุ้มต้นทุน โดยมองกำลังคนที่เหมาะสม ทักษะที่เหมาะกับงานและความต้องการขององค์กร หากใครปรับตัวไม่ได้ ก็คงต้องหลุดไป เพราะองค์กรไม่ต้องการแรงงานที่ภาระอีกต่อไป

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

‘1 เท่ากับ 5’ แรงงานยุคดิสรัปต์ต้องแกร่ง