ผู้นำสามมิตรกรุ๊ป โชว์วิชัน ก้าวและปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลง

15 ธ.ค. 2562 | 07:00 น.

ในยุคแห่งการทรานส์ฟอร์มขณะนี้ ไม่มีธุรกิจไหนที่อยู่รอดโดยไม่มีการปรับตัว แม้แต่ผู้ที่เป็นเจ้าตลาดในอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์เพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์โซลูชันครบวงจรอย่างกลุ่มบริษัท สามมิตรฯ ก็ลุกขึ้นมาปรับตัวแล้วตั้งแต่ 4-5 ปี ก่อน

“ยงยุทธ โพธิ์ศิริสุข” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามมิตรมอเตอร์ส แมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน) เจน 3 ที่เข้ามาบริหารงานตั้งแต่ 28 ปีที่แล้ว ได้สัมผัสและมีประสบการณ์มาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน เขาบอกเลยว่า แต่ละช่วงของวิกฤติ คือ การปรับตัว

ยงยุทธ โพธิ์ศิริสุข

สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง ก่อกำเนิดมาจากสามมิตรมอเตอร์ เมื่อ 60 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ในฐานะผู้ผลิตแหนบยานยนต์รายแรกของประเทศไทย ธุรกิจเริ่มขยายตัวมาเรื่อยๆ จนมาทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์และรถบรรทุก ต่อมาได้ขยายสายการผลิตออกไปอีก อาทิ ชิ้นส่วนตัวถังรถบรรทุก แม่พิมพ์แบบหล่อ จิ๊กและตัวจับยึด จนกลายเป็นซัพพลายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ และได้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านยานยนต์และโลจิสติกส์โซลูชันชั้นนำของประเทศ

  ปี 2559 กลุ่มบริษัทสามมิตรฯได้ปรับโครงสร้างองค์กรสู่ สามมิตร กรุ๊ป โฮลดิ้ง รวมธุรกิจในกลุ่มที่มีกว่า 22 บริษัท ที่ประกอบด้วย 8 สายกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจรถบรรทุก รถพ่วง กลุ่มธุรกิจอะไหล่ (Auto Parts) กลุ่มธุรกิจ Pick up Conversion หรือ Pick up ดัดแปลง กลุ่มธุรกิจผู้รับจ้างผลิต หรือ OEM กลุ่มยานยนต์พลังงานสีเขียว (Green Energy) กลุ่มการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ (International Business) กลุ่มอื่นๆ อาทิ การให้บริการด้านบริการขนส่งโลจิสติกส์ก๊าซธรรมชาติพลังงานทางเลือกใหม่ และ กลุ่ม SSM Digital Platform  ซึ่งเป็น Cloud-base แพลตฟอร์มที่สามมิตรได้พัฒนาขึ้น สำหรับใช้ในด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ทั้งคนและสินค้า

“ยงยุทธ” เล่าว่า การปรับโครงสร้างองค์กร เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของประธานบริษัท ที่ต้องการทำให้การดำเนินงานเดินไปในทิศทางเดียวกัน และมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน สามมิตรกรุ๊ป ไม่ได้ดำเนินธุรกิจอยู่แค่ประเทศไทย แต่ขยายไปในหลายประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการวางระบบการทำงานภายใต้นโยบายที่ชัดเจน

สำหรับการขยายไปต่างประเทศ หรือการขยายงานต่างๆ ของสามมิตร กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับการหาพาร์ตเนอร์มาร่วมลงทุน ซึ่งผู้นำท่านนี้บอกว่า...เราต้องยอมรับว่าเราไม่ได้เก่ง และไม่ได้รู้ไปทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น ในเรื่องที่เราไม่รู้ จึงต้องหาพันธมิตรที่มีความชำนาญเข้ามาร่วม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการทำธุรกิจ

เขายกตัวอย่าง การขยายธุรกิจด้านกราวด์เซอร์วิส อิควิปเม้นท์ คือ การทำเรื่องระบบโลจิสติกส์ในสนามบิน เพราะต่อไปประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะเติบโตในธุรกิจการท่องเที่ยวมากขึ้น การเติบโตของสนามบินก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย สามมิตรกรุ๊ป จึงได้ร่วมทุนกับบริษัท ซิมโฟเนียร์ ของญี่ปุ่น ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี มาร่วมกันทำอุปกรณ์ที่ใช้กับระบบขนส่งในสนามบิน ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าทั้งไทยและต่างประเทศ เช่น การบินไทย นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไลอ้อนแอร์ การท่าอากาศยานต่างๆ และขณะนี้ได้ขยายส่งกลับไปที่ญี่ปุ่น ส่งไปเป็นรถทั้งคัน และยังขยายไปในอาเซียน ทั้งอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ด้วย

“วิธีการมองเรื่องการขยายธุรกิจ เรามองที่ที่มีโอกาส แล้วก็เอามาขยาย เอาโอกาสมาดู มาวิเคราะห์ แล้วหาช่องว่างที่เราจะเข้าไปได้ เราต้องมองทั้งปัจจัยภายนอก และภายในว่าเราพร้อมที่ก้าวออกไปหรือเปล่า ถ้ามองระยะยาว เมื่อเราติดที่เทคโนโลยี เราต้องมีพาร์ตเนอร์ อย่างซิมโฟเนียร์เข้ามาช่วยเราในการพัฒนา”

ผู้นำสามมิตรกรุ๊ป โชว์วิชัน ก้าวและปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลง

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ การขยายงานด้านบริการ ของ SMM Pro Truck  ศูนย์บริการซ่อมบำรุงรถบรรทุกและรถเทรเลอร์ ที่ตั้งขึ้นโดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท สามมิตรแมนูแฟคเจอริง จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) โดยสามมิตรถือหุ้น 60% : และ พีทีจี 40% ปัจจุบันมี 8-10 ศูนย์ และตั้งเป้าขยายให้ครบ 100 ศูนย์ใน 5 ปี

นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กร การขยายธุรกิจ พร้อมมองหาพันธมิตรที่เข้ามาช่วยเสริมต่อศักยภาพของสามมิตรกรุ๊ปให้แข็งแรงแล้ว ภายในองค์กร ก็มีการปรับเปลี่ยน รีสกิล-อัพสกิลพนักงาน ให้มีความเป็นมัลติสกิล พร้อมทำงานได้ในหลายๆ ส่วน ส่วนที่นำระบบออโตเมชันเข้ามาเสริมได้ อย่างงานปั๊ม งานเชตคุณภาพสินค้า หรืองานส่วนอื่นๆ ก็จะนำระบบออโตเมชันเข้ามาทำงานแทน ส่วนบุคลากร ก็ปรับไปอยู่ในส่วนที่ยังต้องใช้แรงงานมนุษย์

การปรับตัว ทำงานทุกอย่างให้เป็นระบบ มีความชัดเจนในกระบวนการ คือส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้บริหารท่านนี้ มองว่าเป็นเรื่องความจำเป็น ในการสร้างกลุ่มธุรกิจของสามมิตรกรุ๊ป ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น และนี่คือ เส้นทางสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ ที่ไม่ต้องยึดติดอยู่กับบุคคล แต่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยระบบการทำงานที่มาตรฐานชัดเจน

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ผู้นำสามมิตรกรุ๊ป โชว์วิชัน ก้าวและปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลง