อักษร เอ็ดดูเคชั่น เติมอาหารสมองผู้นำสถานศึกษา

08 ธ.ค. 2562 | 05:45 น.


อักษร เอ็ดดูเคชั่น ผนึก  คณะครุศาสตร์ จุฬา ปลุกพลังผู้นำสถานศึกษาสร้างคุณภาพเด็กไทย กับการถอดบทเรียนความสำเร็จจากผู้นำสถานศึกษาระดับโลก

นายตะวัน เทวอักษร กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้ร่วมกับ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ“โครงการสัมมนาผู้นำทางการศึกษาแห่งประเทศไทย 2562" หรือ TELS 2019 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารสถานศึกษาและครูทั่วประเทศ ได้มีโอกาสร่วมแชร์ประสบการณ์ และถอดบทเรียนแห่งความสําเร็จในการพัฒนาการศึกษาจากผู้นำด้านการศึกษาระดับโลกกว่า 5 ประเทศ อันนำไปสู่การเตรียมเด็กในวันนี้ให้กลายเป็นนักคิดนักสร้างสรรค์ สอดคล้องกับความต้องการของโลกในยุคศตวรรษที่ 21

อักษร เอ็ดดูเคชั่น เติมอาหารสมองผู้นำสถานศึกษา

การเตรียมเด็กที่ดี ต้องสอนให้เขามีความรักในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต เพราะโลกอนาคต เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจะคอยทำหน้าที่ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน ไม่มีการมาสอนหน้าชั้นเรียนและครูเป็นผู้ถ่ายทอด แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับเด็ก รวมถึงต้องเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ  เด็กต้องเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันเป็นทีม มีการคิดอย่างวิจารณญาณร่วมกัน รวมถึงเนื้อหาที่ต้องกระชับ มีการจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทำ และสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้เด็กอย่างมีความสุขและสนุกสนาน โดยต้องมีการใช้เทคโนโลยี สื่อใหม่ๆ เข้ามาช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนในยุคนี้ ทำให้นักเรียนเป็นจรวด อยู่รอดต่อไปได้ และเด็กรุ่นใหม่จะอยู่รอดได้ ทุกคนต้องช่วยกันสร้างเด็กพร้อมเผชิญโลกอนาคต

ดร.อกิล อี รอส ผู้อำนวยการโรงเรียน Chapin Hight School รัฐเซาท์แคโรไลนา สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เป้าหมายของการศึกษา คือการสร้างพลังให้แก่เด็ก มีพลังตามศักยภาพของเขาได้ นั้นจะต้องมีกระบวนการเติมพลังให้แก่พวกเขา โดยเฉพาะครูและผู้บริหารสถานศึกษา สิ่งที่ต้องมีก่อนเข้าไปในชั้นเรียน คือการที่ครูได้พูดคุยกับนักเรียน  ครูต้องถามตัวเองก่อนว่าตนเองเป็นใคร เพื่อจะได้ถามนักเรียนด้วยคำถามเหล่านี้เช่นกัน เพราะการตั้งคำถามดังกล่าวเด็กนักเรียนจะได้รู้ว่าเขาเป็นใคร เขารู้สึกอย่างไร และเขากำลังเผชิญปัญหาในวันนี้ได้อย่างไร...

คำถามเหล่านี้เป็นกุญแจที่จะช่วยปลดปล่อยพลังของเด็กออกมา ซึ่งคำว่า Education นั้นมี 2 ความหมาย คือ การฝึกขึ้นมา และการนำออกมา ครูมีหน้าที่ให้พลังกับหัวใจและดึงพลังของเด็กออกมาเพราะนักเรียนมีพลังมากมายแต่ไม่ได้ปลดปล่อยออกมา ฉนั้นให้การศึกษาเปรียบเสมือนต้นไม้ และการจะออกดอกออกผลให้มีศักยภาพ เมล็ดพันธุ์นั้นต้องปลูกลงไปบนดินที่อุดมสมบูรณ์  นั่นคือการมีโรงเรียน ที่ทำหน้าที่เพื่อนักเรียน เตรียมพร้อมให้นักเรียนได้รับความรู้ ความรัก ความเข้าใจ มีภูมิปัญญา ความกล้าหาญ มีวินัย เพื่อสามารถสร้างผลิตผลต่างๆได้  นอกจากนั้นต้องมีการเติมปุ๋ย เติมดิน นั้นก็คือการมีหลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอนให้เด็กเห็นคุณค่า เติมเต็มศักยภาพเด็กให้ดีที่สุด เพื่อออกดอกหรือเสริมศักยภาพของเด็กให้แสดงออกมา เพราะนักเรียนทุกคนมีดอกไม้อยู่ในตัว และในส่วนของครู หรือผู้บริหารเป็นเสมือนสวนที่จะทำให้ต้นไม้เติบโต

นายแพท ยงค์ประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่วิชาการ Code.org  สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การพัฒนาผู้นำด้านการศึกษาไทย สิ่งหนึ่งที่มองว่าต้องทำ คือเรื่องของลดวิชาเรียนลง ซึ่งเท่าที่ทราบการศึกษาไทยมีการจัดการเรียนการสอนรายวิชาในแต่ละวันจำนวนมาก โดยครู ผู้บริหารสถานศึกษา น่าจะลดรายวิชาลง จากเรียน 6-7 วิชา เหลือเพียง 2-3 วิชาต่อวัน และควรจะมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ ให้แก่เด็ก หรือถ้าไม่สามารถลดรายวิชาได้ ควรจะบูรณาการวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน เช่น วิชาศิลปะเรียนร่วมกับคอมพิวเตอร์  วิทยาศาสตร์  ให้เกิดเป็นแอนิเมชั่น เป็นต้น ครูต้องร่วมมือกันสร้างกิจกรรมที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ในหลายๆ วิชาเข้าด้วยกัน เช่น ครูภาษาอังกฤษ ครูภาษาไทย หรือครูคอมพิวเตอร์ อาจจะสร้างเรื่องราวให้เด็กสร้างจุดสนใจ ด้วยการที่ครูทั้ง 3 คนร่วมกันสร้างProject  เพื่อให้เด็กและนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน

อักษร เอ็ดดูเคชั่น เติมอาหารสมองผู้นำสถานศึกษา

“สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารช่วยได้ คือ ช่วยให้ครูทำงาน โดยใช้เทคโนโลยี และสะดวกในการสร้างกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเรื่องหลักสูตร Computing Science มีความจำเป็นที่ทุกโรงเรียนควรเห็นคุณค่าในการนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอน เพราะตอนนี้เทคโนโลยีช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้และการสื่อสารกันได้ เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่ครูเพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ  Computing Science ช่วยทำให้ครู และนักเรียน เกิดการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ทำให้ครูได้พัฒนาตนเองและนำเทคโนโลยีมาสร้างสิ่งใหม่ๆ การเรียนหลักสูตรComputing Science เป็นการสร้างฐานความคิดอย่างมีระบบ” นายแพท กล่าว

นายจุน อุ สะคะ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาการศึกษานานาชาติ เบเนเซ่ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าการประเมินผลของสถานศึกษามี 2 รูปแบบ คือ สำหรับครูและนักเรียน โดยการประเมินทำให้ครูเข้าใจและทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อนของนักเรียน ช่วยแก้ไขปัญหาของนักเรียน ขณะที่นักเรียนรู้ว่าตนเองเก่งหรือมีจุดอ่อนตรงไหน ซึ่งเมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ทั้งการสอนของครูและการเรียนของนักเรียนจะดีขึ้น  โดยการประเมินที่ดี ต้องเป็นการประเมินเพื่อให้เข้าใจถึงความก้าวหน้าของนักเรียน ร่วมถึงการสอนนั้นได้ผลมากน้อยขนาดไหน  และผลลัพธ์ที่ได้จากการประเมินต้องเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนนำเอาไปใช้ได้จริง

 

อักษร เอ็ดดูเคชั่น เติมอาหารสมองผู้นำสถานศึกษา

“จากการประเมินที่ทางเบเนเซ่ ได้ร่วมกับทางบริษัท อักษร เอ็ดดูเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยได้ประเมินนักเรียนในโครงการ ผลลัพธ์โดยรวมคือคะแนนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ขณะเดียวกันเมื่อสอบถามความเห็น พบว่าเขาไม่ได้รู้สึกว่าการเรียนคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยาก และต่อให้มีเด็กกลุ่มหนึ่งบอกว่าคณิตศาสตร์เป็นเรื่องยาก แต่ประมาณ 65% เขาก็ชอบคณิตศาสตร์ นอกจากนั้นนักเรียนไทยยังเชื่อมั่นครูมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นแรงกระตุ้น หรือแรงดึงดูดให้เด็กได้เรียนรู้ได้ ดังนั้นการประเมินที่ไม่ใช่เพียงวัดคะแนน แต่ยังวัดนิสัยการเรียนรู้ มาเป็นแรงกระตุ้นทำให้เกิดการสอนและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น หวังว่าจะเป็นส่วนสร้างประโยชน์ปรับปรุงการศึกษาไทยต่อไป” นายจุน กล่าว