โคเวสโตร สร้างธุรกิจเยียวยาโลก ตอนที่ 2

20 ก.พ. 2559 | 11:00 น.
เรื่องของความยั่งยืน เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกกำลังพูดถึง โดยเฉพาะในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ โคเวสโตรในฐานะองค์กรระดับโลก ความท้าทายที่โคเวสโตรให้ความสำคัญ คือ ทิศทางของโลก จะดำเนินไปอย่างไร เกี่ยวกับข้อตกลง COP21

COP21 (Conference of Parties) หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่ร่วมลงนามในสัญญาเรื่องของความยั่งยืน ที่จะช่วยให้มนุษย์ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งกล่าวไปใน นสพ.ฐานเศรษฐกิจ คอลัมน์ Scoop ฉบับที่ 3,130 "ริชาร์ด นอร์ธโค้ด" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความยั่งยืน บริษัท โคเวสโตร เอจีฯ มองว่า นโยบายขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนของรัฐบาลแต่ละประเทศมีความสำคัญ แต่บางทีอาจถูกกลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจปฏิเสธ ดังนั้น อีกแรงผลักหนึ่งที่จะมีพลังก็คือ ความต้องการของผู้บริโภคในการใช้สินค้าที่ดี ผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

[caption id="attachment_32162" align="aligncenter" width="503"] aaac9 Partnership framework[/caption]

"การลดอุณหภูมิในการตกลง COP21 ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะลอนดอน ฮ่องกง นิวยอร์ก เซี่ยงไฮ้ ยังใช้พลังงานกันมากมาย ในทางปฏิบัติหมายความว่า เป็นการเจรจาตกลงเพื่อให้นานาประเทศเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส (เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม) เพื่อป้องกันภัยพิบัติร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

[caption id="attachment_32161" align="aligncenter" width="500"] aaac8 To tackle development challenges collaborative action is essential[/caption]

แม้ขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกได้เพิ่มขึ้นในระดับที่ต่ำกว่า 1 องศาเซลเซียส แต่ผลกระทบได้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในหลายประเทศแล้ว เช่น มีชาวคิริบาส ประเทศหมู่เกาะใกล้เส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในยุโรปจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วจากภัยโลกร้อนที่เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก การประชุม COP21 เน้นถึงข้อตกลงและความร่วมมือในการสนับสนุนประเทศและชุมชนที่ประสบภัยในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

สิ่งที่โคเวสโตรมีคือ เทคโนโลยี และวางแนวทางการดำเนินงานด้านความยั่งยืน เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายไว้คือ

1. การผลิตอย่างยั่งยืน ด้วยการตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ประมาณ 40% ภายในปี 2020 และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 50% ภายในปี 2025 ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการใช้พลังงานให้ได้มากที่สุด โดยเพิ่งได้เริ่มใช้เทคโนโลยี ODC ในสายการผลิต Chlorine production ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตถึง 50% ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนด้านอื่นๆ และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

[caption id="attachment_32159" align="aligncenter" width="500"] Solar Impulse Solar Impulse[/caption]

2. โครงการเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Impulse เป็นโครงการที่โคเวสโตรต่อสัญญาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสนับสนุนทางด้านเทคนิคอย่างเป็นทางการ ของโครงการเครื่องบินพลังงานแสงอาทิตย์ โดยตั้งเป้าที่จะให้เครื่องบินโซลาร์ อิมพัลส์ บินรอบโลกในปี 2559

3. โครงการการผลิตในอุดมคติ (Dream Production) เป็นโครงการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมา กลับมารีไซเคิลเป็นโฟมใหม่ โดยโครงการนี้จะเริ่มกระบวนการการผลิตเพื่อการพาณิชย์ที่โรงงานโคเวสโตรในประเทศเยอรมนีเป็นแห่งแรก และจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากโครงการนี้ในปีนี้

[caption id="attachment_32160" align="aligncenter" width="500"] aaac7 Sustainable products[/caption]

โคเวสโตรวางแผนสร้างสายการผลิตใหม่ ที่ศูนย์การผลิตในเมืองดอร์มาเกน นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตโฟมโพลิยูรีเทนคุณภาพสูง สายการผลิตใหม่นี้ จะมีกำลังการผลิต 5,000 ตันต่อปี โดยบริษัทจะยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเมืองโคโลญจน์ "โครงการการผลิตในอุดมคติ" หรือ Dream Production นี้ มีเป้าหมายว่าจะนำผลิตภัณฑ์โพลิออลที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ตลาดในปี 2559 โดยขณะนี้มีบริษัทผู้แปรรูปโพลิออลและโพลิยูรีเทนสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่นี้เป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน โพลิออลคุณภาพสูง ที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่มีวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์โพลิออลชนิดใหม่โคเวสโตรพัฒนาให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ในขณะที่คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถเทียบได้ในระดับเดียวกันกับโพลิออลที่ผลิตแบบดั้งเดิม การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของสารตั้งต้นจะช่วยลดการใช้วัตถุดิบที่ใช้ปิโตรเลียมอย่างโพรพิลีนออกไซด์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโพลิออลทั่วไป และกระบวนการผลิตใหม่นี้จะทำให้เกิดสมดุลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมมาก

4. โครงการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย โคเวสโตรร่วมมือกับมูลนิธิที่อยู่อาศัย (Habitat for Humanity) และพันธมิตรเอกชนอื่นๆ เพื่อริเริ่มโครงการสร้างบ้านราคาประหยัด ที่สามารถต้านทานภัยธรรมชาติได้จำนวน 1,000 หลัง ในประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากที่บ้านเรือนจำนวนมากถูกทำลายด้วยพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดเมื่อปี 2556

5. โครงการเกี่ยวกับเกษตรกรรม คือ โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก (Solar Dryer) ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ประเทศไทย

สำหรับโครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก (Solar Dryer) ในประเทศไทย เราจะมาลงรายละเอียดกันอีกครั้งในฉบับหน้า ติดตาม Scoop "โคเวสโตร สร้างธุรกิจเยี่ยวยาโลก ตอนจบ" ได้ ใน นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,134

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559