ประเมินตัวตน เพื่องานที่เหมาะสม

22 ม.ค. 2559 | 11:00 น.
การรับพนักงานเข้าทำงานในองค์กร หรือการเลือกเข้าสมัครของคนทั่วไป มีความสับสนกับความต้องการของตัวเอง รวมทั้งความเป็นตัวตนที่แท้จริงของผู้สมัคร ว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ที่องค์กรต้องการหรือไม่ "มัณฑนา รักษาชัด" ผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินบุคลิกภาพ และพฤติกรรม ซึ่งเป็น Master Trainer ของระบบประเมิน Facet 5 จากประเทศอังกฤษ ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้ในบทความพิเศษของเธอ ทั้งเรื่องของ "งานในฝันของฉัน Becoming A Self- expert, know yourself and painting your career." และ "ฝันร้ายเมื่อต้องสัมภาษณ์"

จากการเข้าร่วมเป็นวิทยากรใน สลิงชอท กรุ๊ป "มัณฑนา" ได้พูดถึงประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับกลุ่มคนทำงานที่มีอายุระหว่าง 22-35 ปี และการพูดคุยกับผู้สัมภาษณ์งาน รวมทั้งองค์กรที่รับสมัครงาน พบว่าปัญหาที่เจอะเจอบ่อยสำหรับคนทำงานคือ จะได้งานที่ไม่ตรงกับความชอบ หรือความถนัด รวมทั้งบุคลิกภาพของตัวเอง เพราะคนคนนั้นไม่รู้ว่าจริงๆ ว่าตัวเองต้องการอะไร หรือชอบอะไร และไม่รู้ว่าตัวเองควรพัฒนาทักษะอะไร เพื่อให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่

ส่วนขององค์กร สำหรับผู้ทำหน้าที่สัมภาษณ์ คำถามที่ใช้ในการสัมภาษณ์ หรือการสังเกตพฤติกรรมของผู้สมัคร หลายครั้งที่ไม่ก่อให้เกิดผล ไม่สามารถคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ได้ สิ่งเหล่านี้จึงต้องใช้เครื่องมือในการประเมินบุคลิกภาพ ที่เรียกว่า Facet 5 (The Power of Personality) เข้ามาช่วย

จากการประเมินพฤติกรรมตัวเอง เพื่อการเลือกอาชีพและพัฒนาตัวเองให้เหมาะกับอาชีพนั้น มีขั้นตอนการสร้างสายอาชีพอย่างเป็นสุข 5 ขั้นตอน คือ

1. Self Assessment ต้องรู้จักตัวเอง บางคนเป็นคนชัดเจน รู้แน่ชัดว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร ส่วนบางคนมีหลายบุคลิก มีความซับซ้อน ไม่ค่อยมั่นใจว่าตัวเองชอบงานแบบไหน แบบนี้อาจต้องหาเครื่องมือมาช่วยวิเคราะห์ตัวเอง รวมทั้งการถาม feedback จากคนสนิท ปกติคนไม่กล้าตัดสินใจ ไม่ชอบตัดสินใจ มักจะไม่รู้ตัวว่าตนเองไม่กล้าตัดสินใจ แต่ก็อยากให้ทุกๆ การตัดสินใจรอบคอบ ไม่มีข้อผิดพลาด จึงรอข้อมูล และฟังหลายทาง แต่ในมุมคนอื่น เจอแบบนี้บ่อยๆ ก็รู้สึกว่าแบบนี้เรียกว่าตัดสินใจช้า ดังนั้น เราจะได้เห็นตัวเองในหลายมุมที่ชัดมากขึ้น

2. Career Options หาโอกาสไปคุย ศึกษา สร้างประสบการณ์กับงานที่เราคิดว่าเราชอบ หรือเหมาะกับเรา เพราะสิ่งที่เราเห็นคนอื่นทำ เวลาเราไปทำจริงๆ อาจคนละเรื่อง

3. Narrow Down List สำหรับคนที่มีหลายงานที่ชอบ ตัดสินใจได้ยาก เมื่อได้รายละเอียดแล้วต้องมาเปรียบเทียบแล้วตัดตัวเลือกที่สนใจน้อยกว่าออกไป

4. Decision ตัดสินใจในทางเลือกที่ดีที่สุด ถ้าไม่แน่ใจว่าดีที่สุด ก็เริ่มลองทำก่อน จะเห็นภาพมากขึ้น

5. Set a Career Goal เมื่อตั้งเป้าหมายแล้ว เราจะได้หาแนวทางในการพัฒนา ให้มีทักษะที่สำคัญ ซึ่งนำมาซึ่งความสำเร็จในสายอาชีพนั้นๆ หลายๆ คนพบงานที่ชอบ แต่ไปไหนได้ไม่ไกลมาก เพราะที่ผ่านมาไม่ได้จริงจัง ในการพัฒนาสิ่งที่เราจะทำให้เต็มที่

"มัณฑนา" บอกว่า สำหรับคนที่จะสร้างความสุข ความสำเร็จในสายอาชีพ ต้องเน้น 3 ประเด็นหลัก คือ เรามีจุดแข็งอะไรในเชิง Behavior (พฤติกรรม) อย่างไร เริ่มตั้งแต่ 1. Passion (ความชอบ) 2. Motivation (แรงจูงใจ) อยู่ที่สิ่งใด และ 3.Competency ทักษะความสามารถของเราคืออะไร เพราะหลายครั้ง การมีประสบการณ์อาจไม่เพียงพอ หลายคนเวลามาสัมภาษณ์งาน มักใช้ประสบการณ์ทำงาน หรืออายุงานมาเป็นจุดขาย เช่น เคยทำงานมา 10 ปี แต่พอเทียบทักษะการขาย ความสามารถในการขาย อาจน้อยกว่าคนประสบการณ์ 5 ปี ดังนั้นสำคัญมากที่ทุกๆ ประสบการณ์ที่ผ่านมา ควรทำให้เรามีทักษะที่ตอบโจทย์สายอาชีพที่เราฝันไว้

นอกจากนี้ "มัณฑนา" ยังแนะนำถึงวิธี หรือแนวทางการสัมภาษณ์ ที่แยกออกเป็นหัวข้อ คือ

1. ก่อนการสัมภาษณ์เตรียมตัวก่อน ปัจจุบันคนมาสัมภาษณ์เตรียมตัวมากกว่าผู้สัมภาษณ์เสียอีก การเตรียมตัวเช่น คำถามที่ควรถาม เพื่อไม่ต้องเสียเวลา หลายคำถาม ถามไปก็ไม่ช่วยอะไร เช่น คุณจะทำงานที่นี่นานไหม ใครๆ ก็ต้องตอบว่าจะอยู่นานจริงไหมคะ

2. เวลาสัมภาษณ์ให้แน่ใจว่า ถามมากกว่าพูด เรามาเพื่อถาม แต่ความจริงเราพบว่าผู้บริหารหลายคนเวลาสัมภาษณ์พูดมากกว่าถาม

3. ถ้ามีโอกาสให้ทดลองทำงานบางอย่างให้ดู โดยการจำลองสถานการณ์ บางองค์กรใช้การทำ Focus Group แล้วเฝ้าสังเกตพฤติกรรม จะได้เห็นพฤติกรรมเสมือนจริงว่า เวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่นแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

4. หาตัวช่วย เช่นเครื่องมือวัดพฤติกรรมที่น่าเชื่อถือ ที่ไม่ง่ายเกินไปที่คนจะเดาได้ว่าควรตอบอย่างไร เพื่อเอามาดูพฤติกรรมโดยธรรมชาติที่เป็นตัวตนจริงๆ ก่อนปรับ

5. สุดท้ายก่อนรับอย่าลืมเช็กข้อมูลจากที่ทำงานเก่า ไม่จำเป็นต้องเช็กจาก HR อย่างเดียว ถ้ามีคนในที่รู้จัก หรือตอนนี้มีแหล่งอ้างอิงอื่นๆ อีกหลายที่ ที่จะเช็กได้ด้วย หวังว่าฝันร้ายจะกลายเป็นดี

สำหรับเครื่องมือ "Facet5" เป็นเเบบประเมินบุคลิกลักษณะของคน ซึ่งมองใน 5 มิติ โดยมี 104 คำถามให้ตอบภายใน 15 นาที ด้วยการทำแบบสอบถามผ่านคอมพิวเตอร์ออนไลน์ โดย Facet 5 ประกอบด้วย 5 ปัจจัยพื้นฐาน คือ (Will) 2. การแสดงออก (Energy) 3. ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Affection) 4. การควบคุมสั่งการ (Control) และ 5.การบริหารอารมณ์ (Emotionality) การนำปัจจัยพื้นฐานสำคัญดังกล่าวที่มีต่อลักษณะนิสัยของคนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จะช่วยให้เข้าใจคนได้ดีขึ้น พร้อมทั้งมีแนวทางในการจัดการคนตามลักษณะนิสัยต่างๆ ด้วยเครื่องมือตัวนี้ถูกนำมาใช้ในเชิงธุรกิจ สามารถใช้ในการจัดการคนได้ทั้งกระบวนการ และประยุกต์ใช้ได้หลากหลายการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การสรรหาบุคลากรที่เหมาะสม การเรียนรู้รูปแบบวิธีการบริหาร การกระตุ้นจูงใจ รวมถึงการสร้างทีมให้มีประสิทธิภาพ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559