5 กลเม็ด พิชิตเกมการเปลี่ยนแปลง

15 ส.ค. 2560 | 06:29 น.
ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะไปที่ไหนจะมีแต่คนพูดเรื่อง Disruption แต่เชื่อเถอะว่า หลายคนฟังแล้วก็ยังงง ๆ ว่าเกี่ยวอะไรกับตัวเอง คนนี้มาพูดเพ้อเจ้ออะไร ฟังไม่เข้าใจ เสียเวลา จะมีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ที่เริ่มหาทางหนีตายกับเหตุการณ์ที่กำลังจะมาถึง

ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร MBA Online มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่าจากที่เคยได้รับโอกาสจากธนาคารกสิกรไทย เข้าฟังการบรรยายของ Dr. Behnam Tabrizi จาก Stanford University ผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Inside Out Effect พูดเรื่อง Wining The Disruptive Game  พบว่า มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กร (Transformation) ทำไมเพิกเฉยไม่ได้  ทำไมจึงต้องปรับตัว คำตอบที่ก้องอยู่ในห้วตลอดเวลาก็คือ ทำอย่างไรให้องค์กรและพนักงานของเราสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อชนะในเกมที่มองไม่เห็น (Invisible Game)

phusit

เกมที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต (First Time) เกมที่สามารถกวาดผู้เล่นที่แข็งแกร่งให้หายไปพร้อมกันหมดภายในพริบตา (Disruptive Game) ดังนั้น ถ้าพวกเราอยากจะชนะในเกมนี้ จะต้องรีบเปลี่ยนแปลงตัวเองและองค์กรให้เร็วที่สุด เพราะ Disruption เกิดขึ้นได้ในพริบตาเดียว จึงกลับมารีบสรุปประเด็นเหล่านั้นที่ได้จากการฟังบรรยายในครั้งนั้น กลายเป็น 5 กลเม็ด พิชิตเกมการเปลี่ยนแปลง( Transformation Disruptive Game )คือ

Negative Thinking, NOT Positive Thinking ที่ผ่านมาถูกสอนให้คิดเชิงบวก เพื่อจะได้มีความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงแบบหลังมือเป็นหน้ามือ การคิดบวกกลับเป็นอุปสรรคคล้ายต้นซุงยักษ์ที่ขวางไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการคิดบวกทำให้องค์กรเกิดสุขนิยม ค่อยๆ ทำงานกันไป ไม่ต้องเร่งรีบ รอให้ทุกปัญหาแก้ไขด้วยตัวเอง

แต่ใน Disruptive Game เมื่อมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เป็นทางรอดที่ยังมองไม่เห็นว่ามีอยู่จริง ผู้บริหารจะต้องลงมือขุดหาทางออกด้วยตัวเอง ถ้าต้องการจะชนะในเกมนี้ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดของผู้บริหารให้รู้จักคิดลบให้เป็น เมื่อเริ่มเห็นหายนะ ทุกคนก็จะดิ้นรนหนักมากเพื่อหาทางรอด คงไม่ต่างกับประโยคที่ว่า เราไม่รู้หรอกว่าเรายกของได้หนักแค่ไหน จนกว่าบ้านจะไฟไหม้ แล้วเราจะเห็นพลังในตัวเองที่ไม่เคยมองเห็น เราต้องนั่งรอให้ไฟไหม้บ้านก่อนหรือ ถึงจะเรียนรู้วิธีการดับไฟ ถ้ารอแบบนี้อาจไม่มีบ้านให้อยู่อาศัยได้ในอนาคต

Middle Managers, NOT only CEO ในอดีต หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงองค์กร คือ เจ้าของธุรกิจ CEO หรือผู้นำสูงสุด แต่ Dr. Tabrizi อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงองค์กรไม่ได้ขึ้นกับ C-Level (Chief) เพียงระดับเดียวเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับ M-Level (Middle Management) หรือผู้บริหารระดับกลางที่เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานในทุกระดับ และเชื่อมต่อแผนที่มาจาก C-Level ไปสู่การลงมือปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่แค่การเขียนแผนแต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย ดังนั้นผู้นำองค์กรควรเริ่มต้นจากการสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้บริหารระดับกลาง กระตุ้นให้คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างไร และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระจายไปทั่วทั้งองค์กร

five

The Pygmalion Effect (ผลกระทบของพิกเมเลี่ยน) เกิดจากนิทานเรื่องหนึ่งที่มีเทวดานามว่า “พิกมาเลี่ยน”ได้ปั้นรูปเทพธิดาสาวสวยขึ้นมาและปฏิบัติกับรูปปั้นประหนึ่งว่ามีชีวิตจริงๆ จนในที่สุด รูปปั้นกลับมีชีวิตขึ้นมาจริงซะด้วย ปรากฏการณ์นี้สามารถอธิบายได้ว่า ถ้ามีความเชื่ออย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ความเชื่อเหล่านั้นจะสามารถเกิดขึ้นจริงได้ด้วยตัวเอง การเปลี่ยนแปลงก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้บริหารเชื่อและคาดหวังว่าองค์กรและพนักงานจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง การปรับเปลี่ยนก็ย่อมเกิดขึ้นได้จริง  แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ได้คาดหวังอะไร การเปลี่ยนแปลงจะส่อแวว ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

ดังนั้นถ้าคาดการณ์ว่า Disruption  จะส่งผลกระทบต่อองค์กรในอนาคต ผู้บริหารก็ต้องเริ่มต้นจากตัวเองในปรับเปลี่ยนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ   การเปลี่ยนแปลงไม่ต้องอาศัยปาฏิหาริย์    หรือยาแรงมากระตุ้นอะไรมากมาย แต่ขอให้ผู้บริหารมีความเชื่อ การเปลี่ยนแปลงก็ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น

Get Out of the Comfort Zone  ศัตรูตัวร้ายกาจของการเปลี่ยนแปลง คือ ความสำเร็จในอดีตและพนักงานทุกระดับติดกับดักความสบาย อาศัยบุญเก่าที่เคยทำกันมา เมื่อบุญหมด ก็จะไม่เหลืออะไรถ้าไม่รู้จักสร้างบุญใหม่ หลายครั้งที่พบ คือ เมื่อผู้บริหารประกาศว่าองค์กรจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกคนในองค์กรจะเกิดอาการระส่ำระสายต่อข่าวลือและผุดคำถามมากมายในหัวทุกคน เช่น “ทำไมต้องเปลี่ยนด้วยในเมื่อบริษัทยังมีกำไรมากมาย ?” “แน่ใจหรือว่าเปลี่ยนแปลงแล้วจะดีขึ้น ?” “รอบนี้ใครจะโดนไล่ออก” “บริหารงานภาษาอะไรจนเจ๊ง”

จากนั้นนำไปสู่สถานการณ์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผู้บริหารต้องหมั่นสื่อสารพบปะกับพนักงานทุกคน เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงในวันนี้ จริงแล้วผู้บริหารย่อมไม่สามารถการันตีได้ว่าเหตุการณ์จะดีขึ้นหรือแย่ลงหลังการเปลี่ยนแปลง แต่มั่นใจได้เลยว่าองค์กรจะกลายเป็นดวงอาทิตย์ขาลงแน่ๆ ถ้าไม่คิดเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในวันนี้

Do Something New Everyday  อ่านไปแล้ว 4 กลเม็ด ผู้บริหารก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ ถ้ามัวคิดวางแผนแต่ไม่ลงมือทำ การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ เป็นเรื่องยากถ้าขาดการฝึกฝนและทดลองทำด้วยตัวเอง เราสั่งลูกน้องให้ทำ แต่เจ้านายไม่เคยทำอะไรใหม่ๆ ให้กับองค์กรเลย ลูกน้องที่ไหนจะศรัทธาและลงมือเปลี่ยนแปลง ดังนั้นพวกเราควรเริ่มต้นจากการเปลี่ยนนิสัยชอบทำแต่สิ่งเดิม เป็นชอบการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมนี้สามารถฝึกได้ โดยเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ให้ได้วันละ 2-3 อย่าง คุณจะคุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงและสามารถเปลี่ยนองค์กรเพื่อพร้อมรับกับ Disruption ได้ในที่สุด

การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่งในวันนี้ ก็จะไม่มีวันได้เริ่มต้นสิ่งใหม่สักที เมื่ออ่านบทความนี้จบ ลองหยิบปากกากระดาษขึ้นมาจดซิว่าวันนี้จะทำอะไรใหม่ๆ อะไรบ้าง เริ่มต้นสักหนึ่งอย่างและลงมือทำให้ได้ หลังจากนั้นค่อยๆ ทำสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อทำได้ก็เชิญชวนเพื่อนรอบข้างมาเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยกัน นั่นคือ กลเม็ดเคล็ดลับที่จะนำไปสู่การเป็นผู้ชนะใน Disruptive Game ครั้งนี้