บี.กริม จับมือภูฏานตั้งศูนย์ GNH ประเทศไทยสร้างหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อความสุขที่ยั่งยืน

04 พ.ย. 2559 | 07:30 น.

ราชอาณาจักรไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและลึกซึ้งอย่างยิ่ง ดังสะท้อนได้จากความสัมพันธ์อันดียิ่งระหว่างราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ การเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก สมเด็จพระราชินี เจตซุน เพมา วังชุก และพระราชโอรส เพื่อสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่พระบรมมหาราชวังด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 15-16 ตุลาคม 2559 รวมทั้งการรับสั่งให้มีการลดธงครึ่งเสา สั่งหยุดงานและหยุดโรงเรียน รวมทั้งการจัดพิธีจุดเทียนและสวดมนต์ทั่วประเทศภูฏาน เพื่อเป็นเกียรติและน้อมระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้สร้างความซาบซึ้งใจให้แก่ปวงชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง และเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าทั้งไทยและภูฏานนั้นเป็นยิ่งกว่ามิตรประเทศ

CSR3 สิ่งหนึ่งที่ชาวไทยและคนทั่วโลกได้เรียนรู้จากภูฏานก็คือแนวคิดเกี่ยวกับ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ Gross National Happiness (GNH) ที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมซึ่งไม่ได้มีรากฐานมาจากความสำเร็จทางวัตถุ แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าความก้าวหน้าทางวัตถุไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด และไม่แม้แต่จะนำไปสู่การมีชีวิตที่ดีของคนและชุมชน และที่สำคัญคือเราสามารถนำแนวปรัชญานี้มาปฏิบัติจริงในบริบทต่างๆ รวมทั้งในการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจ ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการลงนามก่อตั้ง “ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ประเทศไทย” (GNH Centre Thailand) ซึ่งเป็นศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติระหว่างประเทศแห่งแรกของโลกที่ตั้งอยู่นอกประเทศภูฏาน โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท บี.กริม ประเทศไทย และศูนย์มวลรวมความสุขประชาชาติแห่งประเทศภูฏาน

ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธาน บี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่า GNH Centre Thailand ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์จัดโปรแกรมและหลักสูตรการอบรม ด้วยแนวคิดการส่งเสริมคุณค่าและหลักการของ “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (GNH) ตามแนวคิดหลัก 4 ประการ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค 2.การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ 3.การรักษาและส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การส่งเสริมการปกครองที่ดี หรือ ธรรมาภิบาล โดยผสมผสานกันเป็นกระบวนการทางธุรกิจผ่านโปรแกรมการฝึกอบรมสำหรับภาคธุรกิจและภาคอาชีวศึกษาในประเทศไทย

ทั้งนี้ บี.กริม ถือเป็นบริษัทนำร่องที่นำทฤษฎีความสุขมวลรวมประชาชาติมาใช้ในองค์กรธุรกิจเพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่สังคมความเป็นอยู่ที่ดี ผ่านการพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรม โดยมุ่งเน้นมุมมองเรื่องความสุขที่แท้จริงของสังคมในทุกมิติ ทั้งในระดับองค์กร ไปจนถึงสังคมภายนอกโดยส่วนรวมของประเทศและของโลก “ แนวคิด GNH สอดรับกับปรัชญาองค์กรอันเป็นเอกลักษณ์ในการดำเนินธุรกิจของ บี.กริม คือ การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างความศิวิไลซ์ให้กับมนุษยชาติ” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว พร้อมทั้งอธิบายว่า บี.กริม ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2421 นับเป็นหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนที่เก่าแก่ที่สุดในเรื่องการเป็นผู้นำธุรกิจที่โอบอ้อมอารี เริ่มต้นด้วยการผลิตยาแผนใหม่ นำชีวิตที่ดีสู่สังคมไทย ลูกค้าและชุมชน อันเป็นหัวใจสำคัญในความพยายามและมุ่งมั่นของบริษัท โดยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน บี.กริม สนับสนุนทุกด้านของเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต อันเป็นรากฐานเดียวกันกับปรัชญาของ GNH ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยความเท่าเทียมกันของคุณค่าทางสังคมและวัตถุ โดย บี.กริมตั้งใจที่จะเติมเต็มความต้องการของเครือข่ายผู้ร่วมงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจ ไปจนถึงสังคมส่วนรวม ด้วยการตระหนักอยู่เสมอว่า การทำดีและการส่งต่อความดีที่ผู้นำเชิงสร้างสรรค์นำพาความเจริญมาให้ และความร่วมแรงร่วมใจกัน คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นปรปักษ์ต่อกัน

[caption id="attachment_111695" align="aligncenter" width="503"] ดร.ฮาราลด์ ลิงค์-เจ้าหญิง อาชิ เคเซง โชเดน วังชุก ดร.ฮาราลด์ ลิงค์-เจ้าหญิง อาชิ เคเซง โชเดน วังชุก[/caption]

“นอกจากนี้ GNH ยังนำเสนอพื้นฐานปรัชญาที่คล้ายคลึงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในประเทศไทยตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ตั้งแต่ปี 2513 โดยทั้งสองแนวคิดตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ และให้ความสำคัญกับทางสายกลาง เพื่อทำให้เกิดความสมดุลและตอบสนองความต้องการของความเป็นมนุษย์ภายใต้ข้อจำกัดของผลผลิตจากธรรมชาติบนพื้นฐานที่ยั่งยืน” ประธานบี.กริม กล่าว

ในโอกาสเดียวกันนี้ เจ้าหญิง อาชิ เคเซง โชเดน วังชุก ประธานและศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติภูฏานได้มีพระดำรัสในพิธีลงนามก่อตั้งศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ประเทศไทย ว่า การที่ค่านิยมของ GNH ถูกเผยแพร่ไปนอกประเทศภูฏานเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และบี.กริม คือแบบอย่างที่ดีทั้งในเรื่องของค่านิยมองค์กร และเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานค่านิยมของ GNH ในองค์กร ทั้งนี้ ศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายที่จะขยายความสุขมวลรวมประชาชาติอันเป็นหลักปรัชญาภูฏาน ไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการนำ GNH ไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการนำเสนอรูปแบบการปฏิบัติจริงในประเทศไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,206 วันที่ 3 - 5 พฤศจิกายน 2559