เลอทัด ศุภดิลก : Sellsukiร้ านค้าออนไลน์ คุยง่าย ขายไว ส่งเร็ว

29 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
งานขาย เป็นงานทำเงิน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โมเดลที่น่าสนใจอีกโมเดลหนึ่งของกลุ่มสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ ก็คือ โมเดลของ "Sellsuki" (เซลสุกิ) ระบบบริหารร้านค้าโซเชียล ที่มีนิยามสั้นๆ ว่า "คุยง่าย ขายไว ส่งเร็ว"

[caption id="attachment_109027" align="aligncenter" width="335"] เลอทัด ศุภดิลก เลอทัด ศุภดิลก[/caption]

"เซลสุกิ" เริ่มต้นขึ้นโดย ผู้ชายที่ชื่อ "เลอทัด ศุภดิลก" ซีอีโอรุ่นใหม่ไฟแรง เขาคนนี้ จบการศึกษาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สารสนเทศทางการจัดการ ด้วยไอเดียง่ายๆ ที่ว่า...เวลาของคุณมีค่า มากกว่าที่จะมานั่งวุ่นวายกับการบันทึกข้อมูลที่จำเจ หรือปวดหัว และบางคนก็กล้าๆ กลัวๆ กับงานขาย เพราะพูดไม่เก่ง พรีเซนต์ไม่เป็น... "เซลสุกิ" www.sellsuki.co.th จึงถูกออกแบบมาให้ทุกอย่างง่าย ไม่ต้องกลัวงานขายกันอีก

"เลอทัด" เริ่มจากการวางระบบรับส่งและจัดการออร์เดอร์ออนไลน์ บริหารสต็อก และการจัดส่ง แบบร้านค้าออนไลน์และคลังสินค้ามืออาชีพ...รู้ทันทีว่า ของเหลือขายกี่ชิ้น จองสินค้าสำหรับรอแจ้งโอน พิมพ์ป้ายพัสดุ และแจ้งการจัดส่งได้ในคลิกเดียว ทำให้สามารถเพิ่มยอดขายได้ไม่ตกหล่น

เขาบอกว่า "เซลสุกิ" มาจากคำว่า รักการขาย สุกิ หมายถึง รัก ชอบ...ผมทำให้สำหรับคนที่ชอบการขาย ขณะที่ตัวเองเป็นคนชอบทำงานเป็นระบบ เขาจึงเริ่มด้วยการพัฒนางานหลังบ้านของระบบการขาย หลังจากทำงานที่ บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด อยู่กว่า 3 ปี ก็มาทำงานระบบเอสไอพี ระบบอีอาร์พี ที่ใช้จัดการบริษัท จากตรงนั้น ทำให้เขาเกิดแนวคิด และได้ระบบการทำงานที่เป็นขั้นเป็นตอน

[caption id="attachment_109028" align="aligncenter" width="500"] เซลสุกิ เซลสุกิ[/caption]

พอออกจากงาน จึงมาหุ้นกับเพื่อนๆ อีก 5 คน ที่ชอบไอที รักงานดีไซน์ และชอบความครีเอทีฟ พร้อมกับหยิบแผนธุรกิจที่เคยแข่งชนะตอนเรียนปี 4 ของแบงก์ HSBC มาลองปัดฝุ่น ลองทำกันประมาณปีหนึ่ง ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเวิร์ค

"สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ส่วนใหญ่สิ่งที่เราคิดมันเด็กเกินไป เราไม่เข้าใจวงการจริงๆ โปรเจ็กต์แรกเราเป็นเครื่องคาราโอเกะ ทุกวันนี้ผมก็ยังไม่เห็นเครื่องคาราโอเกะที่ดีเหมือนที่ผมเคยทำไว้ แต่สุดท้ายที่เราเรียนรู้ก็คือ ไม่ใช่แค่สร้างของดีๆ แล้วจะขายได้ และก็มีเรื่องบางเรื่อง ที่เราก็คาดไม่ถึง เช่น กลไกการทำงานในเรื่องของลิขสิทธิ์ หรือ ทำไงให้ได้ต้นทุน เราไม่เข้าใจตรงนี้"

ความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมคือ การทดสอบตลาดที่น้อยเกินไป การขายจริง กับการคิดสินค้าดีๆ ออกมาสักชิ้น มันไม่ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น กว่าจะมาเป็น "เซลสุกิ" พวกเขาจึงใช้เวลาเปลี่ยนธุรกิจมาถึง 3-4 ธุรกิจ ทำทั้งเครื่องเล่นคาราโอเกะ ขายบ้าน สมุดนิทานสำหรับเด็ก เสื้อแฟชั่น การเปิดธุรกิจช่วงนั้น ด้วยไอเดียที่คิดว่า... มันเท่ห์ดี มันเจ๋ง แต่สุดท้ายแล้วมันเจ๊ง

สุดท้ายก็มาจบที่ อี - คอมเมิร์ซ นั่นจึงเริ่มมาเป็น "เซลสุกิ" จริงจัง ด้วยความรู้ความสามารถด้านไอที และระบบหลังบ้าน ทั้งได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการสตาร์ทอัพของทรู ที่ให้ทุน ให้โอกาส เริ่มต้นจากการผูกระบบไปกับโซเชียล คือ เฟซบุ๊กไลน์แอด แต่การผูกกับโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กอย่างเดียว ก็เป็นข้อจำกัด เพราะ หากเฟซบุ๊กไม่ให้เชื่อมต่อ ก็ทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงมีการพัฒนาปรับระบบ และเขียนระบบใหม่หมด เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว

[caption id="attachment_109026" align="aligncenter" width="500"] เซลสุกิ เซลสุกิ[/caption]

หลังจากนั้นจึงมาสร้างระบบรองรับให้สามารถขายผ่านแชตได้ ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างตะกร้าสินค้า โดยมีการเชื่อมแชตเข้ามาในระบบ โดยระบบทำงานจะแบ่งสถานะเลยว่า คนนี้เข้ามาสอบถาม แต่ยังไม่ได้สั่งซื้อ คนนี้อยู่ในกลุ่มที่สั่งซื้อแล้ว คนนี้อยู่ในกลุ่มที่จ่ายเงินแล้ว นี่คือความแตกต่างของระบบ "เซลสุกิ" กับระบบของต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ออร์เดอร์ที่ผ่านระบบมีประมาณเดือนละ 120 ล้านบาท เติบโตเดือนละ 20%

ตอนนี้ ระบบของ "เซลสุกิ" มีโอกาสไปต่างประเทศ แต่ตอนนี้ยังหากำไรยาก เพราะเราไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ มันยังขาดรายละเอียดบางอย่าง ดังนั้น ตอนนี้ขอโฟกัสที่ตลาดประเทศไทยก่อน การบริหารธุรกิจของ "เซลสุกิ" ขณะนี้สามารถดำเนินไปได้เรื่อยๆ ด้วยจำนวนคนที่ไม่เยอะ ต้นทุนไม่สูง การทำธุรกิจให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่เก่ง แต่ต้องมีชั่วโมงบิน ต้องมีประสบการณ์ เรียนผิดเรียนถูกแล้วปรับปรุง นั่นแหละที่จะทำให้สตาร์ทอัพไปรอด

...เทคโนโลยีมันเปิดความเป็นไปได้ แต่ตลาดมัน ต้องใช้งานได้จริง..."เลอทัดกล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559