ก้าวไกล จี้ สธ.ปรับแผนรับผู้ป่วยโควิด หวั่นเกิดระบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา

02 มี.ค. 2565 | 06:00 น.

ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.‘ ก้าวไกล’ จี้ สธ. ทบทวน ย้ำ ต้องเร่งปรับแผนรองรับผู้ป่วยโควิด ‘สีเขียว’ พ้อ อย่าให้เกิดระบบสุขภาพแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา 

วันนี้ (2 มี.ค.)นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดุสิต พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นต่อกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำจดหมายด่วนที่สุดถึงหน่วยบริการต่างๆในสังกัด ให้เตรียมการสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด- 19 แบบโรคประจำถิ่น ว่าข้อสั่งการดังกล่าวสร้างความสับสนและมีแนวโน้มที่จะสวนทางกับข้อสั่งการ ครม. ที่ให้ชะลอและทบทวนการปรับโควิด-19 ออกจาก UCEP (ยูเซ็ป) หรือนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่

 

เพราะจะทำให้ทั้งผู้ปฏิบัติและผู้ป่วยไม่กล้าที่ไปรับบริการในหน่วยสุขภาพที่ใกล้ที่สุด แม้มีอาการที่น่ากังวล เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือไม่หากไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิ 

 

นายธันย์ชนน กล่าวต่อว่า แม้ข้อมูลเบื้องต้นจะบ่งชี้ว่า โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน มีความน่ากังวลน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง รวดเร็ว และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในอัตราสูงแบบที่เคยเจอเมื่อปลายปีก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ติดเชื้อคราวละมากๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์นี้ที่ติดได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่าตัว จำนวนที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วจะเป็นเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของระบบสาธารณะสุขระลอกนี้

 

เพราะเรายังเตรียมระบบรองรับผู้ป่วยสีขียวไม่พร้อม แต่ในทางปฏิบัติกลับทำเหมือนเป็นโรคประจำถิ่นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้ศักยภาพในการจำกัดการระบาดลดลงด้วย เนื่องจากมีโอกาสที่เชื้อจะติดไปยังผู้ป่วยกลุ่มยังได้รับวัคซีนไม่ครบโดส กลุ่มเด็ก และกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดได้มาก 

หากลดระดับลงมาเป็นโรคประจำถิ่นจะทำให้กลุ่มเสี่ยงมีโอกาสหลุดจากระบบการรักษาหรือเข้าถึงได้ช้า โอกาสที่จะมีการสูญเสียก็จะสูงขึ้น ดังที่เราเริ่มเห็นยอดผู้เสียชีวิตต่อวันขยับมาเป็น 40 คน นอกจากนี้ การมองว่าเป็นโรคประจำถิ่นจะทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เพราะเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากโรคระบาดที่มีอันตราย กลายเป็นโรคที่ถึงติดก็ไม่เป็นไร

 

ทั้งที่การติดเชื้อ แม้จะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนก็ยังมีความน่ากังวลต่อภาวะ Long COVID ที่ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตลำบากขึ้นแม้หายแล้ว และอาการภาวะ MIS-C ซึ่งเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะอาการรุนแรงและการเสียชีวิต เพราะสังเกตอาการได้ยาก เนื่องจากเด็กบางคนมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการตอนได้รับเชื้อจึงใช้ชีวิตปกติ มารู้อีกทีเมื่อมีอาการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายกลายเป็นผู้ป่วยหนัก

 

ดังนั้น การจำกัดการระบาดในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจึงยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นเพราะมองว่าอาการเฉพาะหน้าไม่หนัก ถึงติดก็ไม่เป็นไร”นายธันย์ชนน 

นายธันย์ชนน ศรีอัษฎาวุธกุล ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตดุสิต พรรคก้าวไกล

นายธันย์ชนน ยังกล่าวต่อว่า ขณะนี้อัตราการติดเชื้อโควิดในกรุงเทพยังสูง ระหว่างวันที่ 16 ก.พ.-1 มี.ค.65 มีผู้ติดเชื้อมากถึง 33,245 ราย ขณะที่การติดเชื้อต่อวันยังมากกว่า 2,500 ราย จากการทำงานร่วมกันกับทีมงานของพรรคก้าวไกลที่ร่วมทีมอาสาสมัครต่างๆ ได้รับข้อมูลตรงกันว่า แม้กระทั่งระบบการรับแจ้งเข้าระบบเพื่อรับการรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation ก็ทำยาก นี่คือเหตุผลสำคัญเช่นกันที่สะท้อนว่า ยังไม่ควรดูเบาสถานการณ์จากความรุนแรงของโลกที่ลดลง

 

เพราะเรายังจำกัดการระบาดของโรคตั้งแต่ต้นทางไม่ได้ เบอร์สายด่วนต่างๆโทรแทบไม่ติด ใครโทรติดถือว่าเป็นโชคดีมาก ส่วนระบบไลน์หรือเว็บไซต์ บางคนกรอกข้อมูลไปรอ OTP ทั้งวัน กรอกไปซ้ำๆไม่ส่งมา สุดท้ายต้องใช้วิธีการโทรให้ติดให้ได้ ยังไม่นับว่าโทรติดแล้วต้องรอติดต่อกลับมาอีกเป็นวัน

 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ถึงแม้ป่วยไม่หนัก แต่เขาต้องการสถานที่คัดแยกเพราะบ้านอาจมีกลุ่มเสี่ยงอยู่ด้วยกันหลายคน สภาพบ้านไม่เหมาะในการ HI แต่จากที่สะท้อนไป กว่าจะรอกระบวนการทั้งหมดตอบกลับ ผ่านไปแล้วเกือบสองวัน กลายเป็นจากติดหนึ่งก็ติดทั้งบ้าน และอาจไปติดกลุ่มเสี่ยง ภาระก็จะกลับไปหนักที่หมอพยาบาลอยู่ดี

 

นายธันย์ชนน กล่าวต่อไปอีกว่า อีกปัญหาที่พบคือ เมื่อผู้ป่วยแจ้งว่าต้องการสถานที่กักแยกตัว ส่วนใหญ่มักถามถึงผล PCR ทำให้ผู้ป่วยต้องไปตรวจที่โรงพยาบาลตามสิทธิจึงจะฟรี แต่ในทางปฏิบัติโรงพยาบาลส่วนใหญ่ออกคิวตรวจต่อวันได้เพียงหลักร้อยคน ถ้าไปช้าก็ต้องมาวันถัดไป ทำให้บางคนต้องจ่ายเงินไปตรวจเองที่โรงพยาบาลเอกชนจึงจะได้ผล PCR เพื่อหาเตียงที่ง่ายขึ้น

 

ตรงนี้นอกจากกลายเป็นรายได้ให้โรงพยาบาลเอกชนแล้ว โรงพยาบาลเอกชนยังไม่ได้เข้ามาช่วยรับภาระของภาครัฐในการสำรองเตียง หรือแม้แต่ประสานเข้าระบบให้ก็ไม่ทำ ทั้งที่มีผลยืนยันจากโรงพยาบาลนั้น ผู้ป่วยก็ต้องไปดิ้นรนหาเตียงเองอยู่ดี ซึ่งค่าตรวจก็ไม่ได้ถูกลงดังที่มีประกาศนโยบายออกมาก่อนหน้านี้

 

“สภาพอลหม่านของผู้ติดเชื้อที่ต้องพยายามเอาตัวเองเข้าระบบการรักษาแบบใดแบบหนึ่ง ต้องไปจ่ายเงินเพื่อมีผล PCR มายืนยันหาห้อง ต้องไปโรงพยาบาลตามสิทธิที่ไม่รู้ว่าจะได้ตรวจหรือไม่ เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นหากผู้บริหารนโยบายฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเตรียมระบบให้พร้อม อย่าง กทม. บอกว่า Community Isolation หรือ  CI ของ กทม. มีเตียงเพียงพอรองรับ ให้ติดต่อผ่านเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ปฏิบัติการโควิดประจำเขต หรือสามารถเดินทางไปยัง CI เพื่อขอรับบริการได้โดยตรงได้เลย

 

พอเอาเข้าจริง สิ่งที่เกิดขึ้นคือติดคอขวด บางที่ไปแล้วเตียงก็เต็ม ต้องไปรอขออนุมัติเพิ่มเตียงตามกระบวนการอยู่ดีทำให้มีความล่าช้า ชีวิตประชาชนมีแต่คำว่าต้องรอ ดังนั้น ถัดจากสายด่วนที่ต้องเพิ่ม ศูนย์ CI จะต้องขยายให้เพียงพอจริงๆ สะดวกและง่ายต่อการเข้าถึง ไม่ใช่ผู้บริหารพูดจากห้องแอร์ว่ามี แต่หน้างานเจอข้อจำกัดเต็มไปหมด ศูนย์ CI เหมาะสำหรับคนที่มีอาการไม่หนัก แต่มีปัญหาคือบ้านไม่มีที่ให้กักตัว ถ้า กทม. ขยายตรงนี้ให้เข้าถึงได้ง่ายก็จะลดค่าใช้จ่ายที่ สปสช.กำลังรับภาระในการใช้กับ Hospitel ด้วย”นายธันย์ชนน กล่าว

 

นายธันย์ชนน ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นแต่สำคัญมากและควรทำตั้งแต่ปีก่อนคือต้องทำให้ระบบรับเรื่องเป็นระบบเดียวกัน ไม่ใช่แยก 1330 ของ สปสช. ระบบหนึ่ง ส่วนของ กทม.อีกระบบหนึ่ง และแต่ละศูนย์ยังต้องไปหาเอาเองอีก ตอนนี้ถามว่าจะมีใครรู้สักกี่คนว่าเขตตัวเองไหนเบอร์อะไร ศูนย์อยู่ตรงไหน ดังนั้น กทม. ,สปสช. ,ประกันสังคม และเตียงของโรงพยาบาลเอกชน ควรจะต้องมีระบบกลางเพื่อให้สามารถบริหารเตียงทั้งระบบได้ ใครเหมาะตรงไหน สะดวกจุดใด ส่งต่อกันอย่างไรก็จะทำได้รวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดระบบใครมือยาวสาวได้สาวเอา 

 

“ตอนนี้ด่านแรกที่ต้องรีบแก้ไขคือ ระบบสายด่วน นี่คือทัพหน้าที่เราต้องเร่งส่งกำลังบำรุงไปทำศึกกับโควิดระลอกนี้ ต้องรีบขยายคู่สาย เพิ่มบุคคลากรที่ให้สามารถข้อมูลและนำข้อมูลเข้าระบบได้ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมแจกจ่าย ต้องสามารถติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง โดยไม่ตกหล่นไม่ว่าโทรเข้าสายด่วนของหน่วยใดก็ต้องเป็นจริง ไม่ใช่เงียบหายไปเพราะตัวผู้ป่วยมีความกังวล

 

ผมไม่โทษฝ่ายปฏิบัติงานต่อความอลหม่านที่เกิดขึ้น เพราะพวกเขาทำงานกันหนักจริงๆ มีแต่คำขอบคุณที่มีให้จนทำให้เราประคองสถานการณ์มาได้ถึงตอนนี้ แต่ความล่าช้าหรือการประสานงานติดขัด เป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารสถานการณ์ต้องรับผิดชอบในการวางแผน เพราะเรื่องนี้มีบทเรียนตั้งแต่ตอนสายพันธุ์เดลต้าที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย

 

"และที่ผ่านมามีการมาขอวงเงินกู้ไปแล้วไม่รู้กี่ล้านล้านบาท แต่กลับไม่นำมาเตรียมพร้อมในระบบสาธารณสุขอย่างที่ควรเป็น โดยเฉพาะการรับมือในผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว เพราะถ้าทำตรงนี้ได้ดี ผู้ป่วยวิกฤตก็จะน้อยลง การจำกัดการกระจายของเชื้อก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพขึ้นและจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ”นายธันย์ชนน ระบุ