เมกะโปรเจ็กต์ผ่านอีไอเอฉลุย ทส.เดินหน้าเร็วกว่าแผน/ลุ้นทางคู่เฟส 2 เกือบ 3 แสนล.

13 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
ทส.แจงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ผ่านอีไอเอฉลุย ยันเร่งพิจารณาเร็วกว่ากฎหมายกำหนด 105 วัน เผย"บิ๊กป้อม" ไฟเขียวให้พิจารณาได้เต็มที่ ด้านร.ฟ.ท.เผยโครงการรถไฟทางคู่ผ่านอีไอเอจ่อเสนอครม.อนุมัติปลายปีนี้กว่า 2 เส้นทาง ส่วนปี 60 พร้อมพิจารณาทางคู่เฟส 2 อีกรวมมูลค่าเกือบ 3 แสนล้านบาทนั้นยังมีลุ้นอีกเพียบ

[caption id="attachment_96585" align="aligncenter" width="335"] เกษมสันต์ จิณณวังโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษมสันต์ จิณณวังโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม[/caption]

นายเกษมสันต์ จิณณวังโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ในฐานะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีปมความล่าช้าของการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆที่นำเสนอให้ทส.พิจารณาช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งรถไฟ รถไฟฟ้า ท่าเรือ ถนน สนามบิน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นั้นว่า การประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้นดำเนินการเป็นประจำทุกเดือน โดยการประชุมครั้งต่อไประหว่างวันที่ 17-20 กันยายนนี้

"ยืนยันว่าไม่มีใครกดดันให้เร่งพิจารณา เพราะที่ผ่านมาสามารถพิจารณาได้เร็วกว่าแผนหลายโครงการ เมื่อรัฐกำหนดนโยบายใดออกมาก็จะเร่งผลักดันโครงการที่สนองตอบได้เร็วขึ้น อาทิ เรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยได้ออกประกาศยกที่ป่าไม้ให้แล้วนั่นคือจัดทำล่วงหน้ารองรับไว้แล้ว ตั้งคณะกรรมการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ไว้อย่างทั่วถึง"

ประการสำคัญต้องทราบชัดเจนว่าหน่วยงานไหนเป็นเจ้าของโครงการ และหน่วยงานนั้นต้องรู้ดีว่าโครงการเหล่านั้นเข้าข่ายที่จะต้องดำเนินการตามกรอบอีไอเอหรือไม่ และหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องเลือกบริษัทเอกชนที่ปรึกษาที่เป็นมืออาชีพด้านสิ่งแวดล้อมจริงๆ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมายังพบว่ามีบางรายส่งรายงานให้กับคณะกรรมการระดับผู้นำนาญการหลายรอบก็ยังไม่ผ่านการพิจารณา และยังมีความล่าช้าเกิดขึ้นตามมา สิ่งสำคัญปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีอย่างเพียงพอจึงสามารถรองรับโครงการต่างๆได้อย่างไม่ล้นมือ

"ครึ่งปีแรกของปีนี้ถือว่าเรื่องผ่านการพิจารณาอย่างมาก นั่นเป็นเพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสำนักแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้ปรับแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องมาโดยตลอด เพิ่มความถี่ในการพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาคารสูงได้มีการประชุมคราวละ 10-15 วาระ ช่วง 1 เดือนประชุมจำนวน 4 ครั้งคิดเป็นประมาณ 60 เรื่องต่อเดือน ซึ่งไม่มีเรื่องเดียวแต่มีเรื่องพิจารณาอีกกว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาโครงการด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเมื่อส่งเรื่องมาถึง สผ.จะพบว่ามีการเร่งพิจารณาได้แล้วเสร็จกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ 105 วัน"

ทั้งนี้ประกอบกับทุกครั้งในการประชุมคณะกรรมการกก.วล. ทางพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานกก.วล.ได้ให้เวลาอย่างเต็มที่ในการนำเสนอและจัดการประชุมของคณะกรรมการ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าไม่หนักใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการและทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้องว่าสามารถรับมือการพิจารณาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดแต่ละโครงการ

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่าปัจจุบันมีโครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมด้านระบบรางของร.ฟ.ท.โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ทั้งเฟสที่ 1 และเฟสที่ 2 ที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการกก.วล. อาทิ โครงการระบบรถไฟทางคู่เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท และรถไฟทางคู่ในระยะที่ 2 อีกกว่า 6 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 2.9 แสนล้านบาทซึ่งอยู่ระหว่างบริษัทที่ปรึกษารายงานคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) ก่อนที่จะเร่งนำเสนอคณะกรรมการกก.วล.ต่อไป

ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาที่รับดำเนินการด้านรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของร.ฟ.ท.ที่เกี่ยวกับรถไฟทางคู่ในปัจจุบันมีจำนวน 6 รายนั้นยังสามารถรองรับงานได้อีกจำนวนมาก ขณะนี้หลายโครงการอยู่ระหว่างการเร่งประกวดราคา อาทิ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท และส่วนที่อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง อาทิ รถไฟทางคู่เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท , เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ มูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท, เส้นทางนครปฐม-หัวหิน มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทในปลายปีนี้และต้นปี 2560 ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559