ปีหน้า‘ก่อสร้าง’โตแรง 30% ‘จีแลนด์’เตรียมสร้างตึกสูงติดท็อปเทนของโลก

09 ก.ย. 2559 | 03:30 น.
สมาคมคอนกรีตฯชี้ธุรกิจก่อสร้างฟื้นแล้ว ภาคเอกชนเตรียมแผนลงทุนโครงการอาคารสูงคึกคัก คาดเริ่มเห็นปี 60 และหลังเลือกตั้งประเมินการก่อสร้างเติบโตสูงถึง 30%

[caption id="attachment_95618" align="aligncenter" width="335"] ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช  เลขาธิการสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช
เลขาธิการสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย[/caption]

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ มกระธัช เลขาธิการสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจก่อสร้างเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนหลังจากชะลอตัวไปในปี 2557 เนื่องจากปัญหาด้านการเมืองที่ส่งผลให้การพัฒนาโครงการทั้งหลายชะงักไป เละคาดว่าต้นปี 2560 หรือหลังการเลือกตั้งการก่อสร้างจะขยายตัวในอัตรา 20-30% จากการที่ภาครัฐเร่งผลักดันการลงทุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยมีภาคเอกชนหลายรายวางแผนพัฒนาโครงการ เมื่อรวมกับระยะเวลาการยื่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) คาดประมาณ 6 เดือน จากนั้นก็สามารถดำเนินการก่อสร้างได้

"ช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาอัตราการก่อสร้างในกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 20% โดยคำนวณจากจำนวนโครงการก่อสร้างทั้งของภาครัฐและเอกชน สำหรับปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ปี 2558 ประมาณ 37 ล้านตัน ด้านยอดขายในประเทศประมาณ 30 ล้านบาท"

"คาดว่าปี 2561 จะมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอีกถึง 30% ปัจจุบันกรุงเทพฯมีโครงการก่อสร้างอาคารสูงพิเศษหลายโครงการ เช่นโครงการมหานคร ที่มีความสูง 314 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศไทย และติดอันดับนานาชาติในเรื่องของงานดีไซน์ รวมถึงอาคาร จีทาวเวอร์ ซึ่งเป็นตึกสูงที่น่าสนใจทำให้ต่างชาติได้ยอมรับการก่อสร้างอาคารสูงในประเทศไทยมากขึ้นและโครงการ เดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของประเทศไทย ซึ่งเคยประกาศจะสร้างอาคารที่มีความสูงกว่า 615 เมตร และเป็นตึกสูงที่สุดในเอเชียนั้น ล่าสุดเตรียมปรับความสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งตึกนี้จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นอาคารสูงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก"

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวเสริมว่า โครงการเดอะ ซุปเปอร์ ทาวเวอร์ โดยการลงทุนของบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ "จีแลนด์" เป็นอาคารที่สร้างโดยทีมวิศวกรนักวิจัยและนักวิชาการของไทย ทางสมาคม เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคารสูงในไทยนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การก่อสร้างอาคารที่มีความสูงมากจะติดปัญหาเรื่อง น้ำหนักอาคาร เนื่องจากพื้นดินของไทยเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม เป็นดินที่มีความแข็งแรงน้อยกว่าดินในต่างประเทศที่มีการก่อสร้างอาคารสูงและด้วยราคาที่ดินใจกลางกรุงเทพที่มีราคาสูงมาก

รวมถึงข้อจำกัดในการบริหารและจัดการที่ดินจึงจำเป็นต้องใช้ที่ดินให้มีความคุ้มค่าเพื่อลดปัญหาด้านต้นทุน การลดน้ำหนักอาคารทางสมาคมจึงได้ร่วมมือกับวิศวกรผู้ออกแบบและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือทำการวิจัยและพัฒนาคอนกรีตกำลังอัดสูงได้ถึง 1,200 กิโลกรัมต่อ 1 ตร.ซม.เข้ามาช่วยในงานก่อสร้าง ส่วนเรื่องน้ำหนักของตัวตึกอาจต้องนำเข้าวัตถุดิบ หินภูเขาไฟเข้ามาเสริมอีกทาง เพื่อทำคอนกรีตให้มีน้ำหนักเบา ซึ่งนี่ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ตึกมหานครไม่ได้ใช้เทคโนโลยีนี้เพราะว่าความสูงมหานครแค่ 314 เมตร

พร้อมกันนี้ทางสมาคม เตรียมจัดงานแสดงเทคโนโลยี และการประชุมนานาชาติด้านคอนกรีต และการก่อสร้างยิ่งใหญ่ระดับเอเชีย หรือ Concrete Asia 2016 วันที่ 21 - 23 กันยายน 2559 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อผลักดันให้งานวิจัยทางวิชาการสามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้ 100% และยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทยให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง ให้เทียบเท่าระดับนานาชาติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559