อลิวัสสา พัฒนถาบุตร 'ตั้งเป้าโกยยอดขายปี 59 ที่ 3.5 หมื่นล้าน'

05 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
ในยุคตลาดอสังหาริมทรัพย์ขับเคลื่อนด้วยกำลังซื้อกลุ่มบ้านหรูและคอนโดหรู บริษัทซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่รู้จักกันในนามของ CBRE ได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจรที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าระดับบนให้เข้ามาช่วยบริหารงานขาย หรือในบางรายก็ให้เข้ามาช่วยตั้งแต่การออกแบบสินค้า ด้วยเพราะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทที่จับตลาดบนเป็นหลัก โดยมีผู้บริหารหญิงเก่ง มากความสามารถอย่าง อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ลูกหม้อรุ่นแรกเป็นผู้กุมบังเหียนในการบริหาร ทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 3-5% โดยดูได้จากมูลค่าโครงการที่รับบริหารงานขายที่มีมูลค่าเฉลี่ยสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และครองมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ของตลาดที่ 70%

 เปิดกลยุทธ์การบริหาร "สร้างตลาดใหม่ๆ"

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดไฮเอนด์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านเรื่องราวต่างๆมากมาย ซึ่ง อลิวัสสา พัฒนถาบุตร เล่าให้ "ฐานเศรษฐกิจ" ฟังว่า ช่วงวิกฤติของบริษัทคือช่วงปี 2540 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศประสบภาวะต้มยำกุ้ง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมไปถึงบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งในขณะนั้นรายได้หลักของบริษัทมาจากการซื้อขาย การทำวิจัย และให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวลูกค้าชะลอการตัดสินใจด้านการซื้อขาย ทาง CBRE เองก็ได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้ แต่พยายามประคับประคองธุรกิจฝ่าวิกฤติ โดยขณะนั้นมีพนักงานจำนวนมาก

"รายได้ในช่วงวิกฤติลดลงอย่างมาก แต่บริษัทก็ยังมีกำไร เพียงแต่ยอดขายใหม่ลดลง เรามีการแจ้งพนักงานว่าจะต้องมีการลดเงินเดือน แต่ไม่มีนโยบายเอาพนักงานออก ยกเว้นพนักงานเข้าใหม่ที่ทำงานไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งเราคาดการณ์ว่ารายได้จะลดลง พนักงานที่เงินเดือนไม่ถึง 2 หมื่นบาทไม่ลด ส่วนพนักงานที่เงินเดือนสูงกว่านี้จะลด 5-20% ตามขั้นเงินเดือน ซึ่งการตัดสินใจแบบนี้ทำให้เมื่อตลาดพลิกฟื้นกลับมาอีกครั้ง เรายังมีพนักงานที่พร้อมทำงานได้ทันที"

การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เพราะหลังจากนั้นประมาณ 5 ปี จึงเริ่มมีโครงการใหม่ๆ เกิดขึ้น ธุรกิจของ CBRE เป็นธุรกิจที่ปรึกษา ถ้าไม่มีพนักงานที่มีประสบการณ์จริง การเริ่มใหม่เป็นสิ่งที่ยาก พอมาตอนช่วงที่ฟื้นตัวทำให้มีประสบการณ์ในทุกรูปแบบ โดยตอนที่เกิดวิกฤติได้มีการสับเปลี่ยนผู้เช่าอาคารสำนักงาน ซึ่งตอนนั้นค่าเช่าอาคารสำนักงานเกรดเออยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท จาก 600-700 บาท และบริษัทได้ไปติดต่องานกับผู้เช่ารายใหญ่ที่เช่าอาคารเก่าให้ย้ายมาอยู่ในอาคารใหม่ในราคาค่าเช่า 350-400 บาท เป็นการสร้างลูกค้าให้เกิดขึ้น ประกอบกับเมื่อตลาดลงมีการขายสินค้าในราคาถูก บริษัทก็หันมาจับตลาดนี้และมีการทำธุรกิจบริหารอาคารเกิดขึ้น ซึ่งเป็นรายได้ที่แน่นอนเป็นตัวช่วยพยุงให้บริษัทผ่านมาได้ ทำให้บริษัทมีกำไรและสามารถจ่ายส่วนที่หายไปในช่วงวิกฤติของพนักงานคืนให้ทั้งหมด

สู่เบอร์ 1 ตลาดไฮเอนด์

ด้วยความที่เป็นบริษัทต่างประเทศทำให้มีภาพดังกล่าวมาส่วนหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่ชัดว่าเป็นไฮเอนด์ เดิมจับตลาดออฟฟิศกับที่อยู่อาศัย ในส่วนของตลาดออฟฟิศบริษัทเป็นตัวแทนขายกลุ่มอาคารสำนักงานเกรดเอ ในส่วนของที่อยู่อาศัยเพิ่งมาทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อก่อนปี 2540 เริ่มจากไม่ทำจำนวนมาก แต่เลือกทำในโครงการที่มีขนาดใหญ่ และปริมาณไม่มาก โดยเริ่มมีความชัดเจนว่าเป็นบริษัทที่มุ่งเน้นตลาดไฮเอนด์ในช่วงปี 2546 ซึ่งมีโครงการระดับไฮเอนด์เข้ามาในตลาดมากขึ้น

"ตามกลไกของตลาดอสังหาฯ เมื่อวัฏจักรของตลาดหมุนกลับมาอีกครั้งจะเริ่มจากตลาดระดับบนก่อน เนื่องจากกำลังซื้อมาเร็วกว่าตลาดล่าง เราเริ่มจากโครงการแฮมตันและออลซีซัน ออลซีซันเป็นการขายตึกที่เสร็จแล้ว ส่วนแฮมตันที่ทองหล่อของกลุ่มเมเจอร์เป็นโครงการใหม่โครงการแรกของตลาดคอนโดฯที่เป็นลักชัวรี ตอนนั้นขายแพงที่สุดในทองหล่อและมีห้องตัวอย่างที่อลังการขายหมดเร็วมาก หลังจากนั้นก็หันมาจับตลาดลักชัวรีมากขึ้น ทำให้บริษัทมีประวัติการขายในกลุ่มนี้มากกว่าบริษัทอื่น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเราเป็นบริษัทที่บริหารงานขายระดับลักชัวรี อีกทั้งมูลค่าของตลาดนี้สูง ทำให้เรามุ่งจับตลาดนี้ก่อน"

 ตั้งเป้าโกยยอดขายปี59 ที่ 3.5 หมื่นล้าน

ปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 3-5% สัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากงานขายที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะตลาดไฮเอนด์อยู่ที่ประมาณ 40% งานบริหารจัดการ 20% คอมเมอร์เชียลพร็อพเพอร์ตี้ 15% ยอดขายที่ดิน 20% อื่นๆ 5% สำหรับงานขายเฉลี่ยปีละประมาณ 20 โครงการรวมของเก่าและของใหม่ มูลค่าโครงการที่ขายเฉลี่ยในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยปี 2558 บริษัทมียอดขายที่อยู่อาศัย 1.9 หมื่นล้านบาท

สำหรับภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้ชะลอตัว แต่มีตลาดออฟฟิศที่ดีมาก ดูได้จากยอดพรีริช ทำให้ยอดขายเป็นไปตามเป้า ครึ่งปียอดขาย 1 หมื่นล้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559