เร่งศึกษาที่จอดรถราชดำเนิน ลุ้นบิ๊กตู่เคาะรูปแบบลงทุน/ปั้นฟีดเดอร์เชื่อมสายสีม่วง-สีส้ม

22 ส.ค. 2559 | 11:00 น.
กทม.เด้งรับแนวคิดนายกรัฐมนตรีเร่งศึกษาความเป็นไปได้กรณีสร้างลานจอดรถใต้ถนนราชดำเนิน มอบสำนักการโยธาดำเนินการศึกษาผลกระทบก่อนหารือคณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ เผยช่วงราชดำเนินกลางมีความเป็นไปได้สูง รอลุ้นเสนอ "ประยุทธ์" เคาะรัฐลงทุนเองหรือ PPP ด้าน สจส.เดินหน้าศึกษารถรางไฟฟ้าเข้าสู่เขตพื้นที่ชั้นในเพื่อเชื่อมโยงรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้และสายสีส้มของรฟม.

[caption id="attachment_88010" align="aligncenter" width="700"] แสดงแนวพื้นที่ก่อสร้างลานจอดรถใต้ถนนราชดำเนินนอก แสดงแนวพื้นที่ก่อสร้างลานจอดรถใต้ถนนราชดำเนินนอก[/caption]

นายประสาร พิทักษ์วรรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีดำริจัดสร้างลานจอดรถใต้ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนั้น ขณะนี้ กทม. อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากพื้นที่ถนนราชดำเนินมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆฝังอยู่ใต้พื้นถนนอีกมากจึงต้องศึกษารายละเอียดร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะที่จะรองรับการจอดรถบัสและรถยนต์ต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันสถานที่จอดรถในพื้นที่นี้ยังมีไม่เพียงพอ แม้ว่าจะมีแนวคิดย้ายหน่วยงานราชการต่างๆออกจากพื้นที่ถนนราชดำเนินมาแล้วก็ตาม

ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แนวถนนราชดำเนินช่วงสะพานผ่านฟ้าพบว่ามีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ผ่าน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว แนวโครงการจึงอาจจะเริ่มจากสี่แยกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปจนถึงแยกกองทัพภาคที่ 1 รักษาพระองค์ ดังนั้นถนนราชดำเนินกลางจึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของกทม.รายหนึ่งกล่าวเสริมว่า ยังมี 3 พื้นที่เลือกดำเนินการ คือ 1.สวนรมณีนาถ 2.สนามหลวง และ 3.ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งการพิจารณาจะต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกแนวเกาะกรุงรัตนโกสินทร์มากที่สุด โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าถนนราชดำเนินกลางมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะโบราณสถานต่างๆยังมีน้อยกว่าแนวเกาะรัตนโกสินทร์ด้านในกทม.จึงจะเร่งศึกษาในช่วงนี้ก่อนว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน จะกระทบกับอาคารต่างๆในแนวถนนราชดำเนินหรือไม่

หากจัดพื้นที่ดังกล่าวมาไว้ในแนวเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ การสำรวจต่างๆจะต้องดำเนินการในเชิงประวัติศาสตร์ โดยกรมศิลปากรจะใช้เทคโนโลยีต่างๆเข้าไปดำเนินการสำรวจ แต่เนื่องจากถนนราชดำเนินทั้งเส้นทางยังไม่ได้นำเสนอให้เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ จะกำหนดช่วงเฉพาะบริเวณสะพานผ่านฟ้ามาถึงสนามหลวงเท่านั้น

ประการหนึ่งนั้นในส่วนพื้นที่สถานีขนส่งสายใต้เก่าเนื่องจากเป็นพื้นที่ของเอกชนจึงต้องเสียค่าจอดรถ และเส้นทางช่วงดังกล่าวนั้นสภาพการจราจรติดขัดอย่างมากจึงไม่สะดวกกับการให้บริการนักท่องเที่ยว อีกทั้งรถบัสขนาดใหญ่ยังโดนห้ามใช้สะพานพระปิ่นเกล้าจึงมีข้อจำกัดมากกว่า

"ขณะเดียวกันสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานครยังได้ศึกษาระบบฟีดเดอร์รูปแบบรถรางไฟฟ้าที่สามารถให้บริการจากจุดสะพานมัฆวานฯผ่านไปยังป้อมมหากาฬ ผ่านไปตามถนนราชดำเนินใน กระทรวงกลาโหม กรมการรักษาดินแดน วัดโพธิ์ สโมสรทหารเรือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผ่านใต้สะพานพระปิ่นเกล้าที่จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้มในพื้นที่ดังกล่าว ผ่านถนนพระอาทิตย์ สี่แยกคอกวัว ผ่านไปตามแนวถนนราชดำเนินกลางที่จะสามารถเชื่อมโยงให้บริการสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม ณ จุดสถานีใกล้อาคารเทเวศร์ประกันภัยได้อีกด้วย แนวทางระบบฟีดเดอร์จึงต้องเน้นการเชื่อมโยงอย่างลงตัวกับรถไฟฟ้าของรฟม.และการเดินเรือในคลองผดุงกรุงเกษมของกทม.ที่ล่าสุดครม.อนุมัติงบ 345 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559