‘สมคิด’เทียบเชิญกลุ่มเจ้าสัวระดมกึ๋นลงทุนนำร่องรถไฟเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง

18 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
“สมคิด” ส่งเทียบเชิญกลุ่มเจ้าสัวชั้นนำของไทยหารือนอกรอบเรื่องความชัดเจนการลงทุนไฮสปีดเทรน นำร่องเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เน้นเปิดโอกาสให้เอกชนแต่ละพื้นที่ร่วมลงทุนกับรายใหญ่ หวังลดภาระงบประมาณภาครัฐให้ได้มากที่สุด

แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการที่รัฐบาลมีแผนดำเนินการพัฒนาในเขตพื้นที่โซนตะวันออก อาทิ สนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง และท่าเรือมาบตาพุดนั้นซึ่งโครงการดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเร่งขับเคลื่อนโครงการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ล่าสุดนั้นนายสมคิดได้มอบหมายให้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) นัดหมายกลุ่มเจ้าสัวนักลงทุนชั้นนำทั้งด้านระบบรางและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหารือนอกรอบเพื่อขอทราบแนวทางการลงทุนที่ชัดเจนก่อนนำเข้าหารือในรูปแบบการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนหรือมาร์เก็ตซาวดิ้งอย่างเป็นทางการต่อไป

โดยในเบื้องต้นนั้นอยากรับฟังความเห็นถึงรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเนื่องจากภาครัฐไม่มีงบประมาณเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงต้องการกระจายให้กับภาคเอกชนมากขึ้น เบื้องต้นโครงการดังกล่าวนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการผ่านรองนายกรัฐมนตรีให้ขับเคลื่อนโครงการเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน

“ขณะนี้นายสมคิดได้ส่งคนใกล้ชิดมาหารือกับบริษัทที่ปรึกษารายใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อจัดการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนอย่างเป็นทางการเพื่อรวบรวมความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆของภาคเอกชนไปเสนอรองนายกรัฐมนตรีว่าภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐดำเนินการรูปแบบใดบ้าง ทั้งการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการลงทุนเองทั้งหมด อยากให้เอกชนมาช่วยรัฐลงทุนมากขึ้น”

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยองนั้นระยะทาง193 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนกว่า1.52 แสนล้านบาท จะผ่านพื้นที่ 5จังหวัดในโซนภาคตะวันออกซึ่งแต่ละจังหวัดคาดว่าจะลงทุนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐสามารถกำหนดให้เอกชนรายใหญ่สามารถร่วมกับรายย่อยของแต่ละจังหวัดได้ทันที ให้แต่ละจังหวัดเข้ามามีบทบาทด้านการร่วมลงทุนมากขึ้นโดยเฉพาะการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษส่วนเส้นทางสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี กรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ความคืบหน้าผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหินนั้น ได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ปรับปรุงข้อมูลผลการศึกษาให้สอดคล้องกับปัจจุบันให้มากที่สุด ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีนจะมีการหารือร่วมครั้งที่13 ในเร็วๆ นี้ที่จีน และไทย-ญี่ปุ่นมีแผนเร่งเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้เชื่อมกาญจนบุรี-อรัญประเทศ(สระแก้ว)และแหลมฉบัง และช่วงเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลกซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนของฝ่ายญี่ปุ่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559