ศักยภาพการผลิตรถไฟฟ้ามาเลเซีย (ตอนที่ 1)

18 ส.ค. 2559 | 07:00 น.
ขณะที่ประเทศไทยกำลังโหมก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่างๆ หลังจากรอกันมานาน เมื่อเร็วๆนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคณะสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย(วศรท.) ที่นำโดยนายดิศพล ผดุงกุล นายกสมาคมไปศึกษาดูงานโรงงานประกอบรถไฟ ณ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อช่วงวันที่ 7-10 สิงหาคมที่ผ่านมาภายใต้โครงการกิจกรรมเครือข่าย 1 เดือน 1 กิจกรรม โดยในครั้งนี้จะไปดูงานทั้ง 2แห่งของมาเลเซียซึ่งมีหน่วยงานให้การสนับสนุนคือสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)

โดยวันที่ 8 สิงหาคมวันแรกของการเริ่มดูงานอย่างเป็นทางการหลังจากที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 7 สิงหาคม คณะใช้เวลาเดินทางจากสนามบินดอนเมืองมายังสนามบินหาดใหญ่ก่อนที่จะนั่งรถตู้ไปยังด่านสะเดา จ.สงขลาเพื่อข้ามด่านนี้เข้าไปยังพื้นที่มาเลเซียและใช้บริการรถไฟเข้าไปยังเมืองกัวลาลัมเปอร์ ถึงที่หมาย 18.00 น.

[caption id="attachment_86167" align="aligncenter" width="500"] Malaysian Railway Academy) หรือ MyRa Malaysian Railway Academy) หรือ MyRa[/caption]

จุดแรกที่เข้าชมการบริหารจัดการนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศมาเลเซียที่นำโดย Technology Depository (TDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ในการบริหารการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ในเมือง Ipho ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ มาเลเซีย เรลเวย์ อะคาเดมี (Malaysian Railway Academy) หรือ MyRa ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรด้านระบบรางที่ทันสมัยของมาเลเซียมานาน สำหรับสถานที่ดังกล่าวมีทั้งห้องปฏิบัติการ ห้องสมุด ที่สามารถค้นคว้าด้านองค์ความรู้ของระบบรางได้อย่างหลากหลาย

ในช่วงบ่ายคณะได้เดินทางไปชมความอลังการของโรงงานประกอบตัวรถของ CRRC ที่จีนให้การสนับสนุนมาเลเซียด้วยการมาก่อตั้งโรงงาน ซึ่งบุคลากรในโรงงานที่มีมากถึง 190 คนนั้นพบว่ามีระดับหัวหน้างานเป็นฝ่ายจีนคอยควบคุมการผลิต ซึ่งรถไฟฟ้าที่ผลิตได้จะนำไปใช้ให้บริการในมาเลเซีย จะพบว่าอะไหล่โดยส่วนใหญ่ยังนำเข้ามาจากจีนเพื่อนำมาประกอบเป็นตัวรถที่โรงงานแห่งนี้

วันที่ 2 ของการชมงาน (9 ส.ค.) ช่วงเช้าคณะได้เยี่ยมชมโรงงาน Scomi ที่ผลิตรถบัสและรถไฟฟ้าโมโนเรล ปัจจุบันวิ่งให้บริการในมาเลเซีย บราซิล และประเทศอินเดีย มีพนักงานราว 2,000 คน จำนวนสาขา 22 ประเทศ ล่าสุดยังประสงค์เข้าร่วมแข่งประมูล จัดหารถในโครงการสายสีชมพูและสายสีเหลืองของไทยอีกด้วยซึ่งโรงงานดังกล่าวนี้ได้รับทุนจาก MIDA หน่วยงานด้านการสนับสนุนงบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาด้านระบบกรีนเทคโนโลยีจำนวน 45 ล้านบาท ซึ่งแยกออกเป็น 2โซนแรกผลิตรถยนต์โดยสารประเภทรถบัสที่อยู่ระหว่างการประกอบตัวถัง 4-5 คันในโรงงาน และพื้นที่ประกอบรถไฟฟ้าโมโนเรลที่มีทั้งการประกอบตัวถัง และการประกอบชิ้นส่วนต่างๆที่พร้อมจะนำออกทดสอบโดยมีรางติดตั้งไว้รอบโรงงาน

[caption id="attachment_86166" align="aligncenter" width="377"] Malaysian Railway Academy) หรือ MyRa Malaysian Railway Academy) หรือ MyRa[/caption]

สำหรับโรงงาน Scomi แห่งนี้นายนัฐวัฒน์ คุณประสิต ผู้บริหารระดับสูงที่ดูแลด้านเทคโนโลยีและอินโนเวชันของบริษัทได้กล่าวว่ารัฐบาลมาเลเซียให้ทุนสนับสนุนมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาทในการจัดหาที่ดินและก่อสร้างโรงงานดังกล่าวนี้ขึ้นมาปัจจุบันเปิดให้บริการนำร่องด้วยระยะทาง 8 กิโลเมตรและยังมีแผนขยายในเส้นทางเพิ่มเติมอีกด้วย จัดเป็นเทคโนโลยีของ Scomi เองพร้อมกันนี้ยังดูระบบอาณัติสัญญาณอีกด้วย โดยจะซับคอนแทร็กต์ไปยังกลุ่มลูกค้าของบริษัทหลายรายด้วยกันสามารถเทิร์นคีย์ได้กับทุกรายจึงเรียกได้ว่าเป็นเจ้าเดียวที่ทำ o&m โดยอินเดียได้รับสิทธิ์ทำ o&m ระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดูแลซ่อมบำรุงให้กับ KTM Rail ของมาเลเซียอีกด้วย

ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะเข้าเยี่ยมชมโรงงานของซีเมนส์มาเลเซีย ที่ประกอบตัวรถไฟฟ้าให้บริการในมาเลเซีย ซึ่งกระบวนการมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยอุปกรณ์บางอย่างนำเข้าจากเยอรมนี แล้วนำมาประกอบที่มาเลเซีย อาทิ สายไฟ เบาะ ระบบประตู ตัวถังจะถูกนำมาประกอบกับวัสดุต่างๆพร้อมกับการตรวจสอบระบบให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ

โรงงานแห่งนี้ซีเมนส์มาเลเซียเปิดโอกาสให้คณะได้ศึกษาดูงานครอบคลุมทั้งระบบมากที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าการประกอบตัวรถ ระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ โบกี้สวยงามยังคงเอกลักษณ์ของซีเมนส์ ประการสำคัญภายในโรงานพบว่าจะใช้ช่างฝีมือส่วนใหญ่เป็นระดับเอนจิเนียริงของมาเลเซียแทบทั้งสิ้น

ดังนั้นด้วยศักยภาพของประเทศไทยเมื่อเทียบกับมาเลเซียแล้วคงจะเห็นได้ชัดว่าโอกาสในการพัฒนาระบบรางของไทยที่จะผลิตรถไฟฟ้าใช้เองได้นั้นไม่ได้ไกลเกินฝันเพราะ ณ วันนี้ไทยพร้อมดำเนินการได้ทันทีของเพียงภาครัฐให้การสนับสนุนงบประมาณและมีนโยบายชัดเจนเท่านั้น ก็สามารถต่อยอดนโยบายดังกล่าวได้ทันที เริ่มต้นจากการเปิดโรงงานประกอบแล้วจึงค่อยต่อยอดไปเป็นการผลิตของตนเองในอนาคตเพื่อลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายยังสามารถดำเนินการได้หลายวิธี

ถึงเวลาหรือยังที่ผู้บริหารประเทศควรเร่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางทั้งระบบตั้งแต่วันนี้ด้วยการกำหนดเอาไว้ในยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของรัฐบาลเพื่อให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ในตอนหน้าจะนำเสนอแนวคิดที่หลากหลายของคนทั้งที่อยู่ในวงการระบบรางและหน่วยงานอื่นๆที่เล็งเห็นความสำคัญตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆสำหรับการพัฒนาระบบรางโดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทยที่ยังรอนโยบายกำหนดทิศทางตั้งแต่วันนี้เพื่อความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีระบบรางในอนาคตของประเทศไทยนั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559