ซิโน-ไทยคาดรายได้ครึ่งหลังลด งานใหม่ทางคู่แก่งคอย - ฉะเชิงเทรา / แจงปมรัฐสภาช้า

12 ส.ค. 2559 | 09:00 น.
ซิโน-ไทย คาดการณ์ผลประกอบการครึ่งปี 59 ลดลงเล็กน้อย มาจากแบ็กล็อกเดิมที่มี ส่วนงานใหม่ได้รถไฟทางคู่ ช่วงแก่งคอย-คลอง19-ฉะเชิงเทรา พร้อมแจงปมอาคารรัฐสภาก่อสร้างล่าช้า

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการ 6 เดือนแรกปีนี้อาจจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2558 โดยรายได้มาจากโครงการเดิมในยอดที่รอรับรู้รายได้(แบ็กล็อก)เกือบทั้งนั้น ส่วนงานใหม่คือรถไฟทางคู่ (แก่งคอย - คลอง 19 - ฉะเชิงเทรา) จะรับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาท โดยบริษัทยังรักษาระดับที่มีปริมาณงานในมือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยงานภาครัฐ 55% ส่วนที่เหลือเป็นเอกชน 45% ซึ่งจะรับรู้รายได้ถึงปี 2562 โดยอาคารรัฐสภาและรถไฟทางคู่ ยังเหลือรายได้รอการรับรู้ในจำนวนเท่ากันคือประมาณ 8,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้รอการรับรู้นั้น บริษัทจะรักษาสัดส่วนงานโครงสร้างพื้นฐาน/ Building/Electric Generator ที่ 40/30/30 โดยรักษาสัดส่วนรายได้ต่อปีของงานภาครัฐและเอกชนไว้ที่ 50/50

สำหรับกรณีข่าวความล่าช้าของการก่อสร้างอาคารรัฐสภานั้น เกิดจากปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้าง สำนักงานเลขาฯ ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด พื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะและชุมชนทอผ้า ปัจจุบันยังไม่สามารถส่งมอบได้ ทั้งที่ตามกำหนดจะต้องส่งมอบภายใน 30 ตุลาคมนี้ และได้รับแจ้งเลื่อนมาโดยตลอด 2. ดินที่ต้องขน เนื่องจากอาคารรัฐสภามีพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่มาก มีชั้นจอดรถใต้ดินถึง 3 ชั้น มีดินที่จะขนย้ายออกไปจำนวนประมาณ 1 ล้านลบ.ม. ซึ่งรัฐถือว่าดินเป็นสมบัติของรัฐ ดังนั้นในสัญญาฯจึงไม่อนุญาตให้ผู้รับจ้างนำไปใช้ประโยชน์ และได้กำหนดให้ขนดินไปทิ้งในที่ที่รัฐกำหนด แต่รัฐไม่สามารถหาพื้นที่ที่จะขนดินไปทิ้งได้ ทั้งๆ ที่ดินควรจะขนออกจากพื้นที่โครงการก่อสร้างได้หมดตั้งแต่กลางปี 2557 ตามสัญญา แต่กว่าที่รัฐจะหาพื้นที่ทิ้งดิน โดยหาที่บริจาคไปยังสถานที่ต่าง ๆ กว่าดินล็อตสุดท้ายจะขนออกได้หมดก็เมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา นับเป็นเวลากว่า 600 วัน ที่ล่าช้าจากที่กำหนด จึงต้องทำเรื่องขอขยายระยะเวลาออกไป

3. แบบก่อสร้างที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งมีผลกระทบกับระยะเวลาก่อสร้างและต้นทุน ปัจจุบันหลังจากได้เริ่มการก่อสร้างตามสัญญา กำหนดจะแล้วเสร็จในปี 2562-2563 อย่างไรก็ตาม กังวลเรื่องที่จอดรถ ตามแบบอาคารรัฐสภามีที่จอดรถชั้นใต้ดิน 2 ชั้นใต้อาคารใหญ่ ที่หลายฝ่ายให้ความเห็นว่าเสี่ยงโดนคาร์บอมบ์ เพราะอาคารรัฐสภาเป็นที่รวมของบุคคลสำคัญระดับสูงของประเทศ จึงควรจะสำรองไว้เฉพาะสำหรับบุคคลสำคัญระดับสูง ซึ่งตามแบบรองรับการจอดรถได้ 2,000 กว่าคันเท่านั้น หากอาคารรัฐสภาแล้วเสร็จ แต่อาคารที่จอดรถยังไม่ได้เริ่มสร้างจะมีปัญหาไม่มีที่จอดรถ

"จำเป็นต้องขอขยายสัญญาออกไปอีก จากสัญญาที่ทำไว้เดิม ครบสัญญาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 ได้ลงนามขยายสัญญาครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2558 ขยายสัญญาไป 387 วัน ครบสัญญาในเดือนธันวาคม 2559 สาเหตุเหตุเนื่องจากรัฐไม่สามารถหาสถานที่ทิ้งดิน การขอขยายสัญญาครั้งที่สอง ได้ขอขยายสัญญาออกไปอีก 600 วัน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักเลขาธิการรัฐสภา"

"แน่นอนว่าปัญหาความล่าช้านี้มีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทต่อเนื่องมาหลายปี รายรับของปี 2557 ไม่เปลี่ยนแปลง ปี 2558 รายรับลดลงจาก 2 หมื่นล้านบาทเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้คาดไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท นั่นคือไม่เติบโตมาสองปีแล้ว โดยในส่วนของอาคารรัฐสภามูลค่า 1.2 หมื่น ล้านบาท ระยะเวลาประมาณ 3 ปี น่าจะรับรู้รายได้ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือประมาณ 15-20% ของรายรับรวม แต่รับรู้ได้ในปีที่ผ่านมาเพียง 1,300 ล้านบาทเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559