‘ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย’ หมัดเด็ดพิชิตใจผู้บริโภค ของแอล.พี.เอ็น.

06 ส.ค. 2559 | 04:00 น.
นับเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) โลดแล่นในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในฐานะเจ้าตลาดคอนโดมิเนียมกลุ่มกลาง-ล่าง ที่นอกจากเรื่องของคุณภาพโครงการที่คุ้มค่าเกินกว่าราคาแล้ว ยังมีอีกหนึ่งหมัดเด็ดที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนช่วยผลักดันแบรนด์ แอล.พี.เอ็น.ให้ประสบความสำเร็จอย่างมากนั่นคือ การสร้างชุมชนน่าอยู่ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายสำคัญของบริษัท และยังเป็นต้นแบบให้หลายๆบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชนเพิ่มมากขึ้น

การบริหารชุมชนให้ได้ตามที่หวังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความต้องการของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกัน ยิ่งในวันนี้ แอล.พี.เอ็น. มีครอบครัวที่อยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันถึง 1.2 แสนครัวเรือน การที่จะทำให้ทุกคนเคารพในกฎกติกาเดียวกันเป็นเรื่องยาก แต่แอล.พี.เอ็น.ก็สามารถทำได้ แสดงให้เห็นด้วยการจัดเก็บค่าส่วนกลางที่ได้มากกว่า 90% และลูกบ้านมีความสุขกับการใช้ชีวิต "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นางสาวสมศรี เตชะไกรศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ฯ และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี พร็อพเพอร์ตี้ เซอร์วิส แอนด์ แคร์ จำกัด ถึงรูปแบบการบริหารชุมชนน่าอยู่

F-B-L-E-S รหัสงานบริหารชุมชน

นางสาวสมศรี กล่าวว่า จากปณิธานที่บริษัทมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และส่งมอบความสุขที่แท้จริงของการอยู่อาศัยให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว "ลุมพินี" เพื่อนำไปสู่ "ชุมชนที่ผู้อยู่อาศัยจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยมีองค์ประกอบที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตภายใต้สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมอันดีงาม" ซึ่งบริษัทได้กำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้แก่ บริษัท ลุมพินี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด เพื่อให้การบริการด้านบริหารจัดการชุมชนที่ครบวงจร ภายใต้แนวทางการดำเนินงานที่พัฒนามาเป็นลำดับได้แก่ F-B-L-E-S

การบริหารทรัพย์ส่วนกลาง (Facility Management) : ฝ่ายบริหารจัดการมีหน้าที่ในการดูแลทรัพย์ส่วนกลางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะส่วนประกอบที่สำคัญของอาคารชุด อันได้แก่ ระบบวิศวกรรมและระบบความปลอดภัยของอาคาร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบต่างๆ ทำงานเป็นปกติ การบริหารงบประมาณ (Budgeting Management) : เป็นการบริหารงบประมาณที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร แต่เป็นการบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม และบริหารเงินกองทุนให้มีเสถียรภาพและเพิ่มพูน เพื่อความมั่นคงในฐานะทางการเงินของชุมชน โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งประสิทธิภาพของอาคารและคุณภาพชีวิตของเจ้าของร่วม หรือผู้อยู่อาศัยทั้งหมดภายในชุมชน ประกอบกับการจัดทำรายงานการเงินที่ง่ายต่อความเข้าใจ เน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้

การบริหารคุณภาพชีวิต (Life Quality Management) : คุณภาพชีวิตของเจ้าของร่วมถือเป็นสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพื่อการมีวินัยในการอยู่อาศัยร่วมกันและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในชุมชน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้เจ้าของร่วมหรือผู้พักอาศัยในชุมชนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกัน การบริหารสิ่งแวดล้อม (Environment Management) : การบริหารงบประมาณ นิติบุคคลอาคารชุด เป็นการบริหารงบประมาณที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร แต่เป็นการบริหารงบประมาณให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วม และบริหารเงินกองทุนให้มีเสถียรภาพและเพิ่มพูน เพื่อความมั่นคงในฐานะทางการเงินของชุมชน เน้นความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และการบริหารระบบความปลอดภัย (Security Management)

พัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง

บริษัทมีการพัฒนาบุคลากรภายใน โดยมีอะคาเดมีของบริษัทเองเพราะบริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องของการอบรมและพัฒนา ซึ่งจัดตั้งมาแล้ว 4 ปี ซึ่งพนักงานทุกคนในองค์กรจะต้องเข้าอบรมไม่น้อยกว่า 56 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีรูปแบบการอบรมที่แตกต่างกันไป โดยในปีนี้จะเป็น 10 20 70 โดย 10 เป็นทฤษฎี 20 เป็นการแบ่งปัน 70 ออนเดอะจ็อบ เทรนนิ่ง เน้นการมีส่วนร่วมต่อแนวความคิด และช่วยกันระดมสมอง มากกว่าเน้นในเรื่องของทฤษฎี

ในส่วนของผู้จัดการชุมชนทุกปีเราจะมีการคัดคนภายใน โดยต้องทำงานในสายงานนี้มาไม่น้อยกว่า 2 ปี มีการสอบทฤษฎี ทัศนคติ เซอร์วิสมายด์ และสัมภาษณ์โดยผู้บริหารระดับสูง เพื่อคัดกรอง เนื่องจากผู้ที่เข้าไปเรียนในหลักสูตรนี้ได้อนาคต คุณคือผู้จัดการชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีการคัดกรองอย่างละเอียด ในแต่ละปีจะจัด 1 หลักสูตร ประมาณ 30-40 คน โดยใน 1 สัปดาห์จะเรียน 1 วัน ที่เหลือเป็นการนำ 20% และ70% ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยจะมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้จัดการชุมชนอยู่แล้วดูแล

ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 14 รวมทั้งหมดประมาณ 400-500 คน ซึ่งเป็นผู้จัดการชุมชนโดยเฉพาะ ปัจจุบันเรามีโครงการที่พัฒนาแล้วจำนวน 115 โครงการ ประมาณ 1.2 แสนครอบครัว พื้นที่ที่ดูแลทั้งหมดทั้งพื้นที่ส่วนกลางและห้องชุดประมาณ 6 ล้านตารางเมตร

"บริษัทพัฒนาโครงการมากขึ้นทุกปีประมาณ 10-15 โครงการต่อปี และในอนาคตเรามีแผนจะรับบริหารโครงการภายนอก ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาต้องทำอย่างต่อเนื่องรุ่นต่อรุ่น ผู้จัดการ 1 คนดูแล 1 โครงการ พร้อมทีมงาน ใน 1 ชุมชนเราจะมีผู้จัดการชุมชน ธุรการ ช่าง สำหรับชุมชนที่มีขนาดใหญ่อาจจะมีผู้ช่วยเพิ่มขึ้นมาตามขนาดชุมชน อย่างชุมชนที่รังสิต คลอง 2 ซึ่งมีหมื่นหน่วย เราจะมีผู้จัดการชุมชนระดับผู้บริหารควบคุมดูแล เนื่องจากต้องใช้ประสบการณ์ที่หลากหลายมาบริหารโครงการ นอกจากนี้เราจะมีส่วนงานสนับสนุนอยู่ที่สำนักงานใหญ่

 สู่ "ชุมชนน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย"

บริษัทจะมีการเก็บข้อมูลในแต่ละชุมชนว่าลูกบ้านอยู่ในกลุ่มใดบ้าง โดยเราจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ เด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงานและกลุ่มผู้สูงวัย เรามีการจัดสัดส่วนทั้ง 4 กลุ่มนี้ โดยจำนวนเฉลี่ยของประชากรที่เราดูแลทั้งหมด กลุ่มเด็กเล็กและวัยรุ่นอยู่ที่ประมาณ 20% กลุ่มทำงานประมาณ 90% และกลุ่มสูงวัยประมาณ 2% แต่แนวโน้มอัตราการเติบโตของกลุ่มผู้สูงวัยของประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็ว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับชุมชนที่เราดูแลในทุกชุมชน

เราจึงมีแนวคิดที่จะจัดโซนนิ่งสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยเริ่มนำแนวคิดนี้มาทำเมื่อปี 2554-2555 ในโครงการที่จอมเทียน เนื่องจากมองว่าสภาพแวดล้อมเหมือนที่พักตากอากาศ และกลุ่มผู้สูงวัยน่าจะมีแนวโน้มที่มากขึ้นในโครงการนี้ โดยการจัดพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก และจัดพื้นที่ให้จำนวน 3 ชั้น ให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไปที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข มีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม เช่น ราวจับในห้องน้ำ ขนาดประตูให้วิวแชร์เข้าได้ ลดสเต็ปต่างๆ ฯลฯ มีห้องพยาบาล ห้องครัวรวม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่ผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังไม่มาอยู่

บริษัทจึงกลับมามองว่าในหนึ่งโครงการมีทุกวัยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำหนักกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ให้ดูตามความเหมาะสมของแต่ละโครงการว่ากลุ่มไหนมีจำนวนเท่าไหร่ ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุเป็นพิเศษ ดูว่ามีผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน และต้องการความช่วยเหลือจากเรา รวมทั้งมีการเก็บข้อมูล โดยแม่บ้านในโครงการ เพื่อดูความเคลื่อนไหวว่ามีความผิดปกติหรือไม่ พร้อมกับจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย

"อนาคตของชุมชนน่าอยู่จะต้องแข็งแรงและยั่งยืน ซึ่งจะต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ เจ้าของร่วม คณะกรรมการ และฝ่ายจัดการ โดยทั้ง 3 ส่วนจะต้องมองเห็นภาพที่สอดคล้องกัน ในทิศทางเดียวกัน ไม่เช่นนั้นการบริหารจัดการจะเป็นเรื่องยาก ถ้าทั้ง 3 ส่วนมีความเข้าใจที่ตรงกันและสอดคล้องกันความยั่งยืนก็จะเกิดขึ้น เรื่องของการบริหารชุมชนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยตัดสินใจของผู้บริโภค นอกเหนือจากเรื่องของทำเลและราคา เรื่องของงานบริหารจัดการจะช่วยยกระดับการอยู่อาศัยของประเทศ เพราะการอยู่แบบคอนโดฯจะต้องมีวินัยและความรับผิดชอบ" นางสาวสมศรี กล่าวในตอนท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559