เปิดแผนชิงรถไฟขนสินค้า บิ๊กBTSส่งอดีตรองผู้ว่าการร.ฟ.ท.ตามผลศึกษาเส้นทาง

10 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
"บีทีเอส"เปิดยุทธศาสตร์ใหม่ แตกไลน์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางรถไฟ ดึงอดีตรองผู้ว่า ร.ฟ.ท.เสริมทัพ เกาะติดโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้น สายบ้านไผ่-นครพนม และขอนแก่น-แหลมฉบัง โดยเตรียมแผนระดมทุน 4-5 แนวทาง ด้านผู้ว่าการรถไฟฯเผยรายได้จากค่าระวางขนส่งสินค้าและผู้โดยสารรอบ 6 เดือนทะลุกว่า 1.4 พันล้านบาท

[caption id="attachment_60275" align="aligncenter" width="395"] ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ดร.อาณัติ อาภาภิรม
กรรมการบริหาร
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)[/caption]

ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า บริษัทมีความสนใจลงทุนพัฒนาโครงการรถไฟคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยเฉพาะเส้นทางนครพนม-มุกดาหาร-ร้อยเอ็ด-บ้านไผ่ และเส้นทางขอนแก่น-แหลมฉบัง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงเส้นทางกัน เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าเป็นหลัก เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวนี้รัฐบาลมีแผนเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังเข้ากับเมืองที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษและประตูการค้าชายแดน

ทั้งนี้ บีทีเอสได้มอบหมายให้นายประจักษ์ มโนธรรม อดีตรองผู้ว่า ร.ฟ.ท.ในฐานะที่ปรึกษานายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ทำหน้าที่ติดตามผลการศึกษาโครงการตามแผนพัฒนารถไฟและรถไฟฟ้าของร.ฟ.ท.

"การลงทุนในโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทางนี้ บริษัทเล็งเห็นว่ามีความน่าสนใจสำหรับการแตกไลน์ธุรกิจไปสู่การให้บริการขนส่งสินค้านอกเหนือจากที่ให้บริการผู้โดยสารในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการวันละกว่า 6 แสนเที่ยวคน"

ดร.อาณัติ กล่าวอีกว่า "บีทีเอสมีเครื่องมือหรือรูปแบบการลงทุนหลากหลายให้เลือกใช้ ปัจจุบันใช้เงินไปแล้วราว 6 หมื่นล้านบาทในการตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบีทีเอสโกร์ท นอกจากนั้นยังมีสิทธิ์ที่จะใช้ใบสำคัญแสดงสิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญ(วอแรนท์)ซึ่งสามารถใช้ได้ทันที อีกทั้งยังสามารถออกหุ้นกู้ได้อีกแนวทางหนึ่งซึ่งแล้วแต่ว่าจะต้องการจำนวนมากน้อยแค่ไหน เท่านั้นยังไม่พอสามารถจะเพิ่มทุนได้อีกด้วย และแนวทางสุดท้ายคือการกู้เงินจากสถาบันการเงินไปใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยแพงบีทีเอสจึงขอใช้เป็นแนวทางสุดท้ายมากกว่า"

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าร.ฟ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นทางบ้านไผ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม อยู่ระหว่างยื่นขอพระราชกฤษฎีกาเวนคืนรวม 929 หลังคาเรือน ใช้งบจำนวน 4,529 ล้านบาท จัดเป็นรถไฟสายใหม่ที่แยกจากสถานีบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น มีระยะทาง 354 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 6 หมื่นล้านบาท เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้เปิดประมูลหาตัวผู้รับจ้างได้ภายในปลายปีนี้และเริ่มก่อสร้างในปี 2560

"เส้นทางนี้จุดเด่นคือแนวเส้นทางสามารถเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษและประตูการค้าชายแดนด้านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม อีกทั้งแนวเส้นทางยังเชื่อมโยงกับเส้นทางจากแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร- นครสวรรค์ที่จะเป็นแนวเส้นทางเชื่อมฝั่งตะวันตกของไทย นอกจากนั้นยังสามารถเชื่อมกับเส้นทางขอนแก่น-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทางกว่า 500 กม. คาดใช้งบไม่น้อยก่อสร้างกว่า 5 หมื่นล้านบาทโดยจะเน้นเพื่อการขนส่งสินค้าตั้งเป้าขนได้กว่า 3.8 ล้านตัน/ปี"

สำหรับช่วงระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา(ตุลาคม 2558-มีนาคม 2559)ร.ฟ.ท.มีปริมาณผู้โดยสาร(ในระบบเชิงพาณิชย์) จำนวน 5.2 ล้านคน และเชิงสังคมจำนวน 12.3 ล้านคน มีรายได้จากการโดยสารเชิงพาณิชย์ 596 ล้านบาท รายได้จากการขนส่งสินค้าและอื่นๆจำนวน 907 ล้านบาท มีปริมาณการขนส่งสินค้าแบบเหมาคัน อาทิ แอลพีจี แก๊ส น้ำมันดิบ ปูนซีเมนต์ถุง-ผง น้ำตาลและสินค้าอื่นๆรวมกว่า 6 ล้านตัน และมีรายได้จากค่าระวางกว่า 853 ล้านบาท รวมมีรายได้จากค่าระวางและค่าโดยสาร 1,4449 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559