‘แสนสิริ’ หวังวัคซีน ปลดล็อกเศรษฐกิจ

06 พ.ค. 2564 | 04:07 น.

คอลัมน์ : ผ่ามุมคิด

การฉีดวัคซีนได้มากและเร็ว เพื่อยับยั้งของแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายแสนล้าน คือ ความหวังสูงสุดของภาคธุรกิจไทย รวมถึง ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพียงรายเล็ก หรือ รายใหญ่ มีสายป่านยาว แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในหลักพันรายวันยาวนานเกินครึ่งเดือน ก็ได้สร้างความตระหนกให้กับผู้ประกอบการไม่น้อย 
โดยความกังวลดังกล่าว ยังเกิดขึ้นแม้กระทั่งกับบิ๊กแบรนด์ในตลาด 

อย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เพราะแม้ ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ นายอุทัย  อุทัยแสงสุข ระบุ เบื้องต้นยังไม่มีผลต่อแผนงานทางธุรกิจ แต่หากรัฐยังวางแผนกระจายวัคซีนล่าช้า หรือ แผนนำเข้าวัคซีน 100 ล้านโดสได้ก่อนสิ้นปี เป็นเพียงคำหลอก ความหวังในการเปิดประเทศ ฟื้นเศรษฐกิจไทยจะยิ่งถดถอย ขณะอสังหาฯ บรรยากาศซื้อ-ขาย คงเข็นยาก นอกจากยอมปลดล็อกปัจจัยหนุนเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม แสนสิริ มีหมัดเด็ด ตามกลยุทธ์  Speed to Market เตรียมปล่อยคอนโดฯเซกเม้นท์ใหม่เขย่าลูกค้ายุคโควิด  หวังขับเคลื่อนเป้าหมายใหม่ ยอดขาย และยอดโอนกรรมสิทธิ์ 3.1 หมื่นล้านบาท 

โควิด 3 ทุบความหวัง

ย้อนไปช่วงประกาศแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัท  ต้นปี 2564 ขณะนั้นสถานการณ์โควิดยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ประเทศไทยมีความหวัง จากความคืบหน้าเรื่องวัคซีน ซึ่งภาคธุรกิจค่อนข้างมั่นใจ มองเปรียบเป็นเครื่องมือในการเข้ามาช่วยแก้วิกฤติ ขณะแสนสิริเอง ตั้งเป็นความหวัง จึงยกให้ปีนี้ เป็น “The Year of Hope”ที่จะช่วยฟื้นความต้องการที่อยู่อาศัยของคนไทย 
และจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของบริษัทได้ แม้ปีที่ผ่านมาเราปรับตัวได้เร็ว แต่จากการกลับมาระบาดซ้ำในรอบ 3 ประกอบการแผนการฉีดวัคซีนล่าช้าจากเป้าหมาย จึงกลายเป็นความกังวล ต้องมอนิเตอร์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะกระทบต่อแผนงานในช่วงไตรมาส 2 โดยตรง 

ทั้งนี้ หากวิกฤติคลี่คลายได้ก่อนปลายเดือนพฤษภาคม จะมีเวลาทำการตลาดในการดึงยอดได้ราว 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งยังระบุไม่ได้ว่า ภาวะทางเศรษฐกิจจะเป็นใจหรือไม่ ขณะทั้งปี ความหวังเดียว คือ แผนงานที่รัฐบาลระบุไว้ว่า ณ สิ้นปี 2564 จะสามารถนำเข้าวัคซีนได้ครบ 100 ล้านโดส โดยลงทะเบียน ทยอยฉีดให้กับประชากรที่เหลือตั้งแต่เดือน พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งจบปี ประชากรราว 50% จะได้วัคซีนครบโดส ใช้ชีวิตปกติ เปิดทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง 

“โควิดทำให้ เศรษฐกิจล้มเหลว ถ้าวัคซีนเข้ามาเร็ว และฉีดได้เร็วเมื่อไหร่ ในปริมาณที่มากพอ เกิน 50 % หรือ 70-80% ของประชากรในประเทศ น่าจะเห็นผล แต่ถ้าช้า เศรษฐกิจไม่มีทางกลับมา ในเมื่อเอกชนยื่นมือสนับสนุน แต่รัฐตีตก เราก็หวังว่า รัฐบาลจะทำได้จริงตามที่แจ้งไว้”
 

อสังหาฯไทยรอเคาะทางออก

อย่างไรก็ตาม นายอุทัย กล่าวต่อว่า แม้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าภาคอสังหาฯ คงได้รับผลกระทบ แต่ยังมีทางออก ในการเข็นกำลังซื้ออยู่หลายด้าน เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อพยุงธุรกิจ ส่งต่อความต้องการด้านที่อยู่อาศัย,การคงและลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงอีก เพื่อช่วยทั้งในการลดต้นทุนผู้ประกอบการ และเพิ่มความสามารถในการซื้อ ลูกค้าเกิดความมั่นใจขึ้น ขณะเดียวกัน มาตรการ LTV กับดักตัวใหญ่ในการกู้ซื้อ ที่เคยออกมาเพื่อสกัดกั้นการเกร็งกำไร หรือ หวั่นภาวะหนี้เสียนั้น ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างไม่มั่นใจในการเปิดโครงการใหม่ เพราะกังวลเรื่องสต๊อกธปท.ควรยกเลิกทันที รวมถึง ยังอยากให้ผ่อนปรนเรื่องมาตรการทางภาษีอีกทาง เพื่อสนับสนุนให้คนไทยมีบ้านได้ง่าย 

“ธุรกิจอสังหาฯ โยงกับทิศทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ก็สะท้อนกลับมา ราว 1.5 - 2 เท่า ซึ่งการที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ฟื้นตัวช้าเท่าไหร่ ยิ่งลดความมั่นใจ คนอยากซื้อบ้าน ฉะนั้นมาตรการใดๆ ที่จะทำให้ธุรกิจหมุนเวียนต่อไปได้ เป็นเรื่องสำคัญมากๆ”

ลุ้นต่างชาติโอนฯ

นอกจากนี้ ยังคาดหวังข่าวดี จากกรณีทีมฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล มีแนวคิด จะขยายสัดส่วนการซื้อคอนโดฯของต่างชาติให้ได้เกิน 49% ขณะเดียวกันเปิดช่องให้ครอบครองในโครงการแนวราบได้ราว 30% ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวมีผลจริง จะช่วยภาพรวมได้อย่างมาก เพราะสาธารณสุขไทยที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับ ทำให้ไทยเป็น 1 ในประเทศเป้าหมายที่ต่างชาติมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ จากข้อจำกัดปิดประเทศ

ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบ จากการที่ต่างชาติเลื่อน และยกเลิกโอนฯจำนวนหนึ่ง โดยปี 63 ลูกค้าจีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย หายไปราว 1.5 พันล้านได้ โอนได้จริงราว 6 พันล้านบาท ขณะปีนี้ บริษัทมีคอนโดฯ 2 โครงการที่ครบกำหนดโอนฯ คือ เอ็กที ห้วยขวาง และ เอดจ์ เซ็นทรัล-พัทยา รวมมูลค่าราว 5 พันล้านบาท ขณะนี้กำลังติดต่อต่างชาติ คาดหวังยอดยกเลิกคงไม่เกิน 20% 
 

คอนโดใหม่ หมัดน็อกลูกค้า 

นายอุทัย เชื่อว่า ช่วงไตรมาส 4 สถานการณ์จะดีขึ้น จึงคงแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ไว้ที่ 24 โครงการ มูลค่ารวม 2.6 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังเป็นส่วนใหญ่ ขณะไตรมาส 2 บริษัทจะเริ่มเดินเกม เจาะสินค้าในกลุ่ม Affordable (ราคาเข้าถึงได้) ที่วางไว้ในพอร์ตราว 75% เพื่อรับกับกำลังซื้อลูกค้ายุคโควิด โดยปลาย พฤษภาคมนี้เตรียมเปิดขายคอนโดฯแบรนด์ใหม่ The Muve ราคาเริ่มต้น 1.29 ล้านบาท  วางปีนี้  4 โครงการ “เกษตร-รัชดา-ราม-บางนา”

“แม้ดีมานด์ ส่วนใหญ่ ยังมาจากกลุ่มบ้าน แต่คอนโด ยังมีอยู่ เราตั้งเป้ายอดขาย 1 หมื่นล้านสำหรับปีนี้ ขณะเดียวกัน มีการวางแผนการทางการเงินให้ลูกค้าตลอดระยะ 1 ปีครึ่ง ก่อนโครงการเสร็จ เพื่อให้ได้ลูกค้าตัวจริง แบรนด์เดอะมูฟ เป็นโปรดักต์ตัวใหม่ ที่เข้ามารับกับที่โควิด ที่กดอำนาจการซื้อของคนลดลง”

ทั้งนี้ ล่าสุด บริษัทได้ปรับเพิ่มเป้ายอดขายจาก 2.6 หมื่นล้านบาท เป็น 3.1หมื่นล้านบาท และเป้ายอดโอนจาก 2.7 หมื่นล้านบาท เป็น 3.1 หมื่นล้านบาท หลัง 4 เดือนแรกมียอดขายเติบโตดีเกินคาด 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,676 วันที่ 6 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2564