5 ตระกูลใหญ่  กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ (1)

23 เม.ย. 2564 | 07:44 น.

บทความ :สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด 5 ตระกูลใหญ่  กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ (1)     

 

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่หมายปองหรือจับตามองของบริษัท หรือนักลงทุนที่มีเงินหรือรายได้ต่อเนื่องจากธุรกิจอื่นๆ เพราะนอกจากจะสามารถสร้างรายได้ทั้งแบบระยะสั้น เช่น โครงการที่อยู่อาศัยแบบขายทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร รวมไปถึงการซื้อ-ขายที่ดิน และการสร้างรายได้แบบระยะยาว เช่น โรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์ เป็นต้น ซึ่งแบบระยะยาวนี้เป็นการสร้างโครงการขึ้นมาเพื่อเก็บรายได้ระยะยาว 5 ตระกูลใหญ่  กับการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ (1)

อีกทั้งยังเป็นการสร้างหรือสะสมอสังหาริมทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีช่องทางในการขายอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ออกไปเพื่อระดมทุนหรือนำเงินทุนที่ลงทุนก่อสร้างไว้กลับมาได้โดยการขายเข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust : REIT) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กองรีท” ซึ่งเป็นรูปแบบการขายออกทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการหรือบริษัทจำนวนมากนิยมใช้กันในปัจจุบัน
บริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ซึ่งก่อตั้งและบริหารโดยครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งจนมีความเจริญเติบโต และขยายกิจการออกมาใหญ่โตครอบคลุมธุรกิจหลายประเภทจนครอบคลุมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน และอีกหลายประเทศประเทศด้วย

หลายๆ ตระกูลมีการขยายขอบเขตการทำธุรกิจเข้ามาครอบคลุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นานแล้วส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนปีพ.ศ.2540 ซึ่งอาจจะมีบางรายที่ชะลอธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปเพราะพิษเศรษฐกิจในช่วงหลังจากปีพ.ศ.2540 แต่บางรายก็อาศัยจังหวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเข้ามากว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ แล้วต่อยอดพัฒนาขึ้นมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะพวกเขามีเงินสดที่ได้จากการขายสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันซึ่งสร้างรายได้มหาศาลแบบรายวัน บริษัทขนาดใหญ่ที่ทุกคนรับรู้ว่าเป็นของตระกูลหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งซึ่งมีธุรกิจครอบคลุมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีไม่มากนัก ได้แก่

1. กลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์) หรือตระกูลเจียรวนนท์
    บริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจด้านอาหารและเครื่องดื่มครอบคลุมทั้งประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งมีที่ดินเพื่อการเกษตรอีกมากมายทั่วประเทศไทย มีส่วนที่เกี่ยวข้องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มานานแล้ว มีการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรร และโครงการคอนโดมิเนียมมายาวนาน เพียงแต่มีการรับรู้ในวงไม่กว้างนัก กลุ่มซีพีใช้บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการพัฒนาโครงการประเภทนี้ รวมไปถึงอาคารสำนักงานที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั้งหมด นอกจากนี้กลุ่มซีพียังมีโรงแรม ธุรกิจค้าปลีก นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ประชุม ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในกกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 
  

นอกจากนี้ ในธุรกิจค้าปลัก ซีพี ยังเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายในธุรกิจค้าปลีกครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด รวมไปถึงในประเทศเพื่อนบ้านและอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะกลุ่มซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อซึ่งมีสาขาครอบคลุมทั้งประเทศไทย เป็นเจ้าของแม็คโคร และล่าสุดก็โลตัส นอกจากนี้ยังมีธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมในชื่อบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในด้านอสังหาริมทรัพย์นั้นกลุ่มซีพีจะเน้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าปลีกเพราะพวกเขาเป็นต้นทางในการผลิตสินค้าบริโภคขนาดใหญ่ของประเทศไทย

การมีธุรกิจค้าปลีกทุกประเภทเป็นของตนเองจึงเป็นการมีแหล่งกระจายสินค้าเข้าถึงกลุ่มคนซื้อได้แบบครอบคลุมมากที่สุด กลุ่มซีพียังมีที่ดินที่ไม่ได้พัฒนาหรือเป็นที่ดินเพื่อการเกษตรจำนวนมาก การที่กลุ่มซีพีได้สัมปทานการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเท่ากับที่ดินในมือพวกเขาอีกจำนวนมากกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ยังไม่รวมโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดขึ้นบนที่ดินที่พวกเขาได้สิทธิ์ในการพัฒนาอย่างที่ดินมักกะสัน ดังนั้น กลุ่มซีพีมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ 

    บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ไม่ได้อยู่ในฐานะบริษัทในเครือหรือบริษัทลูกของกลุ่มซีพี แต่การที่ผู้บริหารสูงสุดหรือเจ้าของบริษัทนั้นเป็นคนในตระกูลเดียวกันกับกลุ่มซีพีจึงถูกมองว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็อาจจะพูดได้ว่า MQDC เป็นอีก 1 บริษัทที่ทำธุรกิจในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร รวมไปถึงการซื้อกิจการโรงแรมในต่างประเทศอีกหลายแห่งด้วย มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มซีพี 

2. กลุ่มทีซีซี (ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น) หรือตระกูลสิริวัฒนภักดี
    บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกิจการครอบคุลมเครื่องดื่มทั้งแบบมีและไม่มีแอลกอฮอล์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยและในอาเซียน กลุ่มนี้คนอาจจะติดภาพลักษณ์ว่าเป็นบริษัทที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จริงๆ แล้วกลุ่มทีซีซีมีกิจการหลายอย่างที่ครอบคลุมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค แต่สินค้าที่มีแอลกอฮอล์เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นแห่งความยิ่งใหญ่ของพวกเขา กลุ่มทีซีซีได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการควบรวมกิจการ เทกโอเวอร์บริษัท หรือกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะพวกเขาควบรวมกิจการด้านแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมาตั้งนานแล้วโดยครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเลย

การเทกโอเวอร์หรือซื้อสังหาริมทรัพย์ก็มีให้เห็นมาตั้งนานแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากปีพ.ศ.2540 เป็นต้นมาที่พวกเขาซื้อบริษัท ซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทั้งโครงการที่สร้างเสร็จและเปิดกิจการอยู่ รวมไปถึงโครงการที่กำลังก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างไปเพราะวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปีพ.ศ.2540 ซึ่งโครงการที่กลุ่มทีซีซีซื้อเข้ามานั้นมีทั้งที่ดินเปล่า อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม กลุ่มทีซีซีเป็นอีกกลุ่มบริษัทที่มีที่ดินเปล่าในครอบครองมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย 

การเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีเกิดขึ้นแบบชัดเจนในช่วงหลังจากปีพ.ศ.2540 เป็นต้นมา หลังจากที่พวกเขามีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และมีการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าของตนเอง รวมไปถึงโครงการคอนโดมิเนียมที่เกิดจากการร่วมทุนกับกลุ่มแคปปิตอลแลนด์จากสิงคโปร์ กลุ่มทีซีซีเข้ามายืนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบเต็มตัวมากขึ้นหลังจากที่พวกเขาเข้าเทกโอเวอร์บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิเวนเจอร์ จำกัด (มหาชน) แกรนด์ ยูนิตี ดีเวลลอปเมนท์ และบริษัทต่างประเทศอย่าง เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (เอฟแอนด์เอ็น) ซึ่งนอกจากจะมีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแล้ว กลุ่มเฟรเซอร์ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็น 1 ในธุรกิจสำคัญของพวกเขา

ทำให้กลุ่มทีซีซีมีอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ และเริ่มพัฒนาโครงการขนาดใหญ่อย่างวันแบงค็อก การเข้าซื้อบิ๊กซีจากกลุ่มคาสิโน และการขยายเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านของ บีเจซีซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มทีซีซียิ่งเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้และศักยภาพของพวกเขาให้มากขึ้น การเข้าซื้อกิจการและเทกโอเวอร์บริษัทต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พวกเขามีอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นและเมื่อรวมกับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พวกเขามีอยู่ก่อนแล้วก็มีผลให้พวกเขาเป็นอีก 1 กลุ่มที่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ครอบคลุมทุกประเภท อีกทั้งยังมีที่ดินขนาดใหญ่ที่รอการพัฒนาอีกหลายแปลงทั้งที่เกษตร-นวมินทร์ และชะอำ ล่าสุดกลุ่มทีซีซีก่อตั้งบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาเพื่อบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์บางส่วนในกลุ่มทีซีซีซึ่งมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก และเป็นบริษัทที่น่าจับตามองในอนาคต เพราะเชื่อว่าจะมีการถ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทีซีซีเข้ามาที่บริษัทนี้มากขึ้น อีกทั้งยัง จะมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์เข้ามาในครอบครองต่อเนื่องแน่นอน เพราะมีงบประมาณพร้อมอยู่แล้ว 

(อ่านต่อฉบับหน้า)    

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564