บ้านจัดสรรโวย ไฮสปีดผ่าซีก ขอชดเชย100ล.

17 เม.ย. 2564 | 18:05 น.

บ้านจัดสรร “แกรนด์บางแสน” โวยชดเชยเวนคืนไม่เป็นธรรมได้แค่ 40 ล้าน เดินหน้าอุทธรณ์ เรียกกว่า 100 ล้าน หลังไฮสปีดผ่ากลาง กลายเป็นที่อกแตก-ตาบอด ต้องคืนเงินให้ลูกค้าทั้งที่ขายได้แล้ว

 

 

แม้การชดเชยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเป็นที่พอใจ ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพราะคณะกรรมการพิจารณาค่าชดเชยฯแต่ละพื้นที่เคาะราคา ไม่ต่างจากตลาดหรือเฉลี่ยสูงกว่าราคาประเมินที่ดินกรมธนารักษ์ 3-6 เท่าแต่สำหรับโครงการบ้านจัดสรรแล้ว กลับมองว่าได้ไม่คุ้มเสียเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการพัฒนาบ้านจัดสรรมีต้นทุนที่สูง ทั้งสาธารณูปโภคภายในโครงการ ไฟฟ้า ประปา ถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย ขณะเดียวกันหากมีการแบ่งแยกที่ดินสร้างตัวอาคารแล้วเสร็จและพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ด้วยแล้วเจ้าของโครงการย่อมเสียโอกาสจากการขายทำกำไร

นายกฤษ อัศวนิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ-เวสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวราบในจังหวัดชลบุรี มานานกว่า 12 ปี มีโครงการเกิดขึ้นแล้ว 13 โครงการ และเป็นเจ้าของโครงการเดอะแกรนด์บางแสนที่ถูกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เวนคืนผ่ากลางโครงการโดยบริษัทต้องเสียที่ดินไปกว่า 2 ไร่จากเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 30 ไร่ กลายเป็นที่อกแตก มีพื้นที่ปิดจากเขตทางไฮสปีดกั้นกลางบ้านจำนวน 147 หน่วย เหลือเพียง 103 หน่วย และขายไปแล้วบางส่วน ซึ่งเป็นบ้านเดี่ยวบ้านแฝดราคากว่า 3 ล้านบาท ทำให้บริษัทต้องคืนเงินให้กับลูกค้า แต่บางหน่วยใช่ว่าจะขายต่อได้ เพราะถูกเวนคืนแหว่งเป็นบางส่วนทำให้ต้องทุบส่วนที่เหลือออก

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทเตรียมอุทธรณ์ เรียกกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากที่ดินที่ซื้อมาพัฒนาโครงการราคาตารางวาละ 10,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง เพราะทำเลมีศักยภาพ อยู่ในเขตอำเภอเมือง เดินทางสะดวก เข้าออกได้ทั้งถนนสุขุมวิทและถนนข้าวหลามตัดใหม่ ใกล้จตุจักรชลบุรี เซ็นทรัลพลาซาชลบุรี หาดบางแสน เมื่อนำมาพัฒนาเป็นบ้านจัดสรรบริษัทขายตารางวาละ 30,000บาท จากการลงทุนระบบสาธารณูปโภคภายในโครงการอย่างดีเยี่ยม จนลูกค้าพึงพอใจและเชื่อมั่น แต่การชดเชยได้รับในราคา 26,000 บาทต่อตารางวา

นายกฤษ อธิบายต่อว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าบริษัท ได้เซ็นสัญญาเวนคืนกับรฟท.เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับค่าชดเชยรวมเป็นเงินเพียง 40 ล้านบาท แต่ที่ต้องอุทธรณ์เพราะค่าชดเชยไม่เป็นธรรม ความเสียหายไม่ใช่เฉพาะแค่ที่ดินกับตัวบ้าน แต่บริษัทได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ความเชื่อมั่นลูกค้าที่อาจไม่ไว้วางใจซื้อโครงการในส่วนที่เหลือ การเสียโอกาสกับที่ดินที่เหลืออาจกลายเป็นที่ดินตาบอด อีกทั้งสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปหากมีการก่อสร้าง รถไฟความเร็วสูง แต่ความเจริญในภาพรวมยอมรับว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับจังหวัดชลบุรี เมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่ไม่อาจหยุดความเจริญที่เข้ามาได้

“ช่องทางการอุทธรณ์ บริษัทยังไม่ได้รับเงินชดเชย แต่ได้เซ็นสัญญาไว้ เพื่อรอรฟท.ทำเรื่องเบิกจ่าย ภายใน 120 วัน ถ้าไม่พอใจต้องทำเรื่องอุทธรณ์ภายใน 90 วัน จากนั้นต้องรอคณะทำงานพิจารณาค่าชดเชย ส่งเรื่องไปคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งขั้นตอนใช้เวลา 300 กว่าวันนานเกือบ 1 ปี ที่เสียโอกาสไม่สามารถทำอะไรได้”

ทั้งนี้แนวสายทางก่อสร้างไฮสปีด นายกฤษพบว่า มีโครงการบ้านจัดสรร 2-3 โครงการถูกเวนคืน โดยจังหวัดฉะเชิงงเทราถูกเวนคืน 1 โครง การบริเวณที่สร้างสถานี-ศูนย์ซ่อมบำรุง นอกจากบ้านจัดสรรแล้ว ยังมีอาคารสูงที่ถูกเวนคืน นายกฤษมองว่า อาจเป็นคอนโดมิเนียมหรือไม่ก็อพาร์ทเมนท์ในชลบุรี 

อีกทั้งโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมบีโอไอรับผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าให้กับแบรนด์อีเลคโทรลักซ์ ซึ่งเป็นโรงงานของชาวต่างชาติ ในจังหวัดระยองที่ถูกเวนคืนผ่ากลางโรงงาน สร้างความเสียหายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสียโอกาสหาที่ตั้งโรงงานใหม่ ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงงาน เครื่องจักรต่างๆ อีกทั้งสายการผลิตต้องสะสุด แต่ค่าเวนคืนชดเชย ไม่คุ้มค่า เพราะพิจารณาเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนที่เสียหาย

แหล่งข่าวจากรฟท.ยอมรับว่า มีเจ้าของที่ดินไม่เช็นสัญญาหลายราย แต่จะใช้วิธีวางเงินไว้กับธนาคารให้ประชาชนมาติดต่อรับภายหลัง ขณะกลุ่มไม่พอใจค่าชดเชยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564